สพฐ.เตรียมคัดครูผช. 1,987 อัตรา เปิดสอบเฉพาะ 'ลูกจ้างประจำ - พนักงานฯ' รับเอก 'อังกฤษ 202 - คณิต 178 - ปฐมวัย 144'
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ และเหตุจำเป็น ว 12 เช่น กลุ่มครูอัตราจ้าง ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ที่ปฏิบัติหน้าที่การสอนมาแล้ว 3 ปี ว่า ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) รวม 225 เขตทั่วประเทศ ได้ส่งข้อมูลความต้องการในการสอบบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยมาให้ สพฐ.แล้ว และขณะนี้ได้กำหนดอัตราที่จะสอบบรรจุ จำนวน 1,987 อัตรา แบ่งเป็น การสอบบรรจุ 27 วิชาเอกที่เคยเปิดสอบมา จำนวน 1,595 อัตรา เช่น กลุ่มวิชาเอกภาษาอังกฤษ 202 อัตรา คณิตศาสตร์ 178 อัตรา ปฐมวัย 144 อัตรา ภาษาไทย 126 อัตรา วิทยาศาสตร์ กลุ่มสังคม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย เป็นต้น
นายไกรกล่าวอีกว่า ส่วนอีก 392 อัตรา จะใช้เปิดสอบสำหรับกลุ่มวิชาทั่วไปตามที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งมา เพื่อเปิดโอกาสให้ครูอัตราจ้างกลุ่มนี้มีสิทธิสอบได้ เนื่องจากครูอัตราจ้างกลุ่มนี้ไม่ได้จบการศึกษาด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มาโดยตรง แต่จะจบสาขาทั่วไปแล้วมาเรียนต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู จนได้ในอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งการเปิดสอบที่ผ่านมาไม่ได้กำหนดกลุ่มวิชาเอกให้กับครูอัตราจ้างกลุ่มนี้ไว้เลย ซึ่งการขอกำหนดวิชาทั่วไปให้แก่ครูอัตราจ้างกลุ่มนี้ จะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะดำเนินการได้ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะครูอัตราจ้างกลุ่มนี้ทำหน้าที่สอนหนังสืออยู่แล้ว
"ผู้ที่มีสิทธิสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ และเหตุจำเป็น ว12 มีประมาณ 20,000 กว่าคน ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ อาทิ เป็นกลุ่มครูอัตราจ้างที่ใช้เงินงบประมาณที่ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่ต่ำน้อยกว่า 3 ปี เป็นต้น ซึ่งการเปิดสอบครั้งนี้จะทำให้ทุกคนมีความก้าวหน้า และความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น" นายไกรกล่าว
นายไกรกล่าวอีกว่า คาดว่าน่าจะกำหนดปฏิทินการคัดเลือก และสอบแข่งขันได้ประมาณเดือนตุลาคม หรือเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนรายละเอียดการสอบแข่งขันต่างๆ จะประกาศออกมาในปฏิทินดังกล่าว สำหรับข้อสอบที่จะนำมาใช้คัดเลือกครั้งนี้ เบื้องต้นจะเสนอ สพฐ.ให้ใช้คลังข้อสอบของ สพฐ.เอง ลักษณะเดียวกับการดำเนินการสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่จะมีนักวิชาการมาช่วยกันออกข้อสอบ และทำเป็นคลังข้อสอบเอง โดยไม่ต้องไปจ้างสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ออกข้อสอบให้
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน