ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ ๗/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
► การสนับสนุนงบประมาณสำหรับสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับ การสนับสนุนงบประมาณสำหรับสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ จำนวน ๕๒ แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๔๐ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ๙ แห่ง และมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งตามกฎหมายเฉพาะ ๓ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียง ๑๙,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มเก่า คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ได้รับงบประมาณถึง ๕๑,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ทำให้สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่จัดการศึกษาได้ไม่เท่าเทียมกับสถาบันอุดมศึกษากลุ่มเก่า ซึ่ง ศ.ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ จึงเสนอว่าควรจะให้โอกาสที่เท่าเทียมแก่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่
ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบการเสนอขอสนับสนุนงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นปีงบประมาณละ ๑๕ ล้านบาทต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ๕ ปี โดยจะเสนอขอแบบปีต่อปี ซึ่ง ศธ.จะดำเนินการจัดสรรงบประมาณใน ๒ ส่วน คือ ร้อยละ ๖๐ ของงบประมาณแต่ละปี ให้สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่นำไปใช้พัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจ้างบุคลากร และร้อยละ ๔๐ ของงบประมาณแต่ละปี ให้นำมาจ่ายให้แก่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสามารถจนสอบผ่าน “ข้อสอบมาตรฐานวิชาภาษาอังกฤษ” ตามสัดส่วนการผลิตบัณฑิตที่สอบผ่านทั้งหมด
นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า สำหรับสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการจะลงทุนในการจ้างอาจารย์สอนได้น้อย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบัณฑิต และพบปัญหาบัณฑิตว่างงานจำนวนมาก ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่จะต้องรับใช้ชุมชนซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย จึงไม่มีสิทธิ์เลือกนักศึกษา ทำให้เก็บเงินได้น้อย และงบประมาณที่ได้รับก็จำนวนน้อย ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาคุณภาพ ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการเสนอของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล หากได้รับสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว ก็จะต้องมาพิจารณาจัดสรรไปตามศักยภาพและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และอาจจะต้องพิจาณาในประเด็นอื่นๆ ประกอบ เช่น จำนวนอาจารย์ คณะ/สาขาวิชาที่เปิดสอน ทั้งนี้ หลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะไปปรับแก้ไขรายละเอียดให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมให้ความเห็น คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ประชุม ครม.ได้ประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้
►การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ที่ประชุมได้นำข้อร้องเรียนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ผ่านมากำหนดให้ผู้ขอเข้าสู่ตำแหน่งสามารถทำตำราหรืองานวิจัย เสนอเพื่อขออนุมัติแต่งตั้งเป็น ผศ.เท่านั้น ต่อมาภายหลังมีการปรับเปลี่ยนให้ต้องทำตำราและงานวิจัย ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ยากขึ้นเพราะต้องทำ ๒ อย่าง ส่งผลให้ผู้ทำผลงานรู้สึกไม่เป็นธรรมและร้องเรียนมา ดังนั้นจึงได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์เฉพาะตำแหน่ง ผศ. คือ ให้ทำตำราหรืองานวิจัยเสนอเท่านั้น โดยเปลี่ยนจาก “และ” เป็น “หรือ” สำหรับตำแหน่ง รศ. และ ศ.นั้น ไม่ได้มีการปรับแก้ไข จึงให้ใช้หลักเกณฑ์เดิม
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้ลงนามในประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๕ กรณีกำหนดลักษณะของผลงานทางวิชาการสำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทุกตำแหน่ง และผลงานทางวิชาการที่ใช้ประกอบการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งมีสาระสำคัญที่ปรับปรุงดังนี้
หลักเกณฑ์เดิม
|
หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุง
|
๑. การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
ผลงานทางวิชาการ ประกอบด้วยผลงาน ต่อไปนี้
(๑) ๑.๑ ผลงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพดีและได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด ทั้งนี้ ไม่นับงานวิจัยที่ทำเป็นส่วนของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ หรือ ๑.๒ ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ซึ่งมีคุณภาพดี และ
(๒) ผลงานแต่งหรือเรียบเรียง ตำรา หนังสือ หรือบทความทางวิชาการ ซึ่งมีคุณภาพดี และได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด
|
๑. การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
ผลงานทางวิชาการ ประกอบด้วยผลงาน ต่อไปนี้
(๑) ผลงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพดีและได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด ทั้งนี้ ไม่นับงานวิจัยที่ทำเป็นส่วนของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ หรือ
(๒) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ซึ่งมีคุณภาพดี และได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือ
(๓) ผลงานแต่งหรือเรียบเรียง ตำรา หนังสือ หรือบทความทางวิชาการ ซึ่งมีคุณภาพดี และได้รับการเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด
|
คุณภาพของผลงาน
(๑) ถูกต้อง สมบูรณ์ และทันสมัย
(๒) เป็นประโยชน์ หรือนำไปประยุกต์ใช้ได้
|
คุณภาพของผลงาน
ผลงานดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นงานที่มีลักษณะคุณภาพระดับดี และมี ๓ องค์ประกอบดังนี้ ร่วมด้วย คือ
(๑) ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ และ
(๒) มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ และ
(๓) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือมีผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชน สังคม หรือประเทศ
|
|
๒. กำหนดลักษณะของผลงานทางวิชาการสำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทุกตำแหน่ง ดังนี้
ผลงานทางวิชาการสำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทุกตำแหน่ง ต้องเป็นผลงานที่มีทิศทางการศึกษาหรือวิจัยตามกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณีตามความเหมาะสมของแต่ละสาขาวิชา ดังต่อไปนี้
๑) สอดคล้องกับศักยภาพหรือทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ
๒) เพื่อให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก
๓) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
๔) พัฒนาและส่งเสริมชุมชนหรือสังคมให้มีความเข้มแข็ง
๕) ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการ
|
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/sep/261.html