การ “ไหว้พระ” ก็มี “เคล็ดมงคล” ที่น่าสนใจ...
เริ่มจากง่าย ๆ ตามวันเกิด คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ ก่อนเลย ซึ่งนี่น่าจะสะดวกและประหยัดที่สุดในการไหว้พระเพื่อเป็นสิริมงคลต่อชีวิต โดยไหว้ “พระประจำวันเกิด” ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รวบรวมจัดทำเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตโดยกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ระบุไว้ว่า คนไทยแต่โบราณนั้น “ถือว่าการบูชาพระประจำวันเกิดเป็นมงคลอันสูงยิ่งอีกประการหนึ่ง” โดยบางคนก็บูชาเพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือปัดเป่าให้รอด พ้นภัยพิบัติต่าง ๆ
สำหรับพระประจำวันเกิดแต่ละวัน ซึ่งมีการสร้างเป็นพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ หรือพระบูชาก็มี แบ่งเป็น “ปาง” ตามวันต่าง ๆ คือ... “ปางถวายเนตร” เป็นพระประจำวันอาทิตย์, “ปางห้ามญาติ หรือปางห้ามสมุทร” เป็นพระประจำวันจันทร์, “ปางไสยาสน์ หรือปางปรินิพพาน” เป็นพระประจำวันอังคาร
“ปางอุ้มบาตร” เป็นพระประจำวันพุธ-กลางวัน และ “ปางปาลิไลยก์” เป็นพระประจำวันพุธ-กลางคืน (พุธ-กลางคืน หมายถึงผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันพุธ ถึงเวลา 06.00 น. ของวันพฤหัสบดี หรือบางคนก็นับตั้งแต่ 18.00-24.00 น. ของวันพุธ สุดแต่ความเชื่อ), “ปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้” เป็นพระประจำวันพฤหัสบดี, “ปางรำพึง” เป็นพระประจำวันศุกร์, “ปางนาคปรก” เป็นพระประจำวันเสาร์
พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประจำวันเกิดทั้ง 7 วันนี้ ชาวไทยพุทธสามารถจะเสาะหาเพื่อกราบไหว้สักการะได้ไม่ยาก เพราะมีการจัดสร้างไว้ ตามวัดวาอารามส่วนใหญ่ และมักจะมีป้ายบอกปางชัดเจน ไม่สับสน
ทั้งนี้ นอกจากพระประจำวันเกิดแล้ว “พระประจำปีนักษัตร” ที่แต่ละคนเกิด ก็มีด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ www.dhamma thai.org ระบุไว้สรุปได้ว่า... พระประจำปีชวดคือ “ปางโปรดอาฬวกยักษ์” เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ เป็นกิริยาทรงแสดงธรรมลักษณะเดียวกับปางปฐมเทศนา บางแบบพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุ (เข่า)
พระประจำปีฉลูมี 2 ปางคือ “ปางโปรดพุทธมารดา” พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) บางแบบวางบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ บางแบบงอนิ้วพระหัตถ์ และ “ปางห้ามญาติ” พระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม เป็นปางเดียวกับปางห้ามสมุทร
พระประจำปีขาลคือ “ปางโปรดพกาพรหม” พระอิริยาบถยืน บนเศียรพกาพรหมซึ่งประทับหลังโคอุสุภราช พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบพระหัตถ์ประสานกันอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ, พระประจำปีเถาะ คือ “ปางอธิษฐานเพศบรรพชิต” พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางบนพระอุระ (อก) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย (บางตำราใช้ปางปัจจเวกขณะ)
พระประจำปีมะโรงคือ “ปางโปรดองคุลิมาลโจร” พระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) นิ้วพระหัตถ์ตั้งตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย, พระประจำปีมะเส็งคือ “ปางทรงรับอุทกัง” แสดงกิริยารับน้ำ พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ (เข่า)
พระประจำปีมะเมียคือ “ปางสนเข็ม” พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ซ้ายจับเข็ม พระหัตถ์ขวาจับเส้นด้าย เป็นกิริยาสนเข็ม, พระประจำปีมะแมคือ “ปางประทานพร” พระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระ (อก) แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลง แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า บางแบบยกพระหัตถ์ขวาขึ้น ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลง, พระประจำปีวอกคือ “ปางปฐมบัญญัติ” พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสอง ตะแคงยื่นออกข้างหน้า
พระประจำปีระกามี 2 ปางคือ “ปางรับมธุปายาส” พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดมธุปายาส บางแบบประทับนั่งห้อยพระบาท และ “ปางเสวยมธุปายาส” พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ ประคองถาดมธุปายาส, พระประจำปีจอคือ “ปางชี้อัครสาวก” พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาชี้นิ้วออกข้างหน้า
พระประจำปีกุนคือ “ปางโปรดพญาชมพูบดี หรือปางทรงเครื่อง” พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์
และนี่ก็เป็น “พระประจำวันเกิด-พระประจำปีเกิด”
แบบแรกหาไหว้ได้ง่าย...แบบหลังหายากขึ้นอีกนิด
แต่จะแบบไหนก็ “สร้างมงคลชีวิต” ได้ทั้งนั้น !!!.
ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จาก เดลินิวส์