ผลประชุม คกก.ส่งเสริมการศึกษาคนพิการ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
► แผนพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ระยะ ๕ ปี
ที่ประชุมรับทราบ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ได้อนุมัติในหลักการแผนพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ตามที่ ศธ.เสนอ
► จำนวนเงินค่าตอบแทนพิเศษของครู ครูการศึกษาพิเศษ และบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เรื่องข้อเสนอ หลักเกณฑ์ วิธีการ การได้มา และจำนวนเงินค่าตอบแทนพิเศษของครู ครูการศึกษาพิเศษ และบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ซึ่งได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน ยกเว้นครูที่รับค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง รายละเอียดดังนี้
๑) ครู ครูการศึกษาพิเศษ และบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาเฉพาะความพิการ วุฒิปริญญาตรีทางการศึกษาพิเศษหลักสูตร ๕ ปี หรือเป็นครูการศึกษาพิเศษตาม พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือน และมีวุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๒) ครู ครูการศึกษาพิเศษ และบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ที่ปฏิบัติงานในศูนย์การศึกษาพิเศษ มีวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษาพิเศษหลักสูตร ๕ ปี หรือเป็นครูการศึกษาพิเศษตาม พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือน และมีวุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๓) ครู และครูการศึกษาพิเศษ ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาที่จัดการเรียนร่วม มีวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษาพิเศษหลักสูตร ๕ ปี หรือเป็นครูการศึกษาพิเศษตาม พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือน และมีวุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๔) ครู และครูการศึกษาพิเศษ ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาที่จัดการเรียนร่วม ที่ขอรับค่าตอบแทนพิเศษรายชั่วโมง มีวุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษชั่วโมงละ ๕๐ บาท ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๒,๕๐๐ บาทต่อคนต่อเดือน
๕) ครู ครูการศึกษาพิเศษ และบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ที่ปฏิบัติหน้าที่นักกายภาพบำบัด มีวุฒิปริญญาสาขากายภาพบำบัด และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๖) ครู ครูการศึกษาพิเศษ และบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ที่ปฏิบัติหน้าที่นักกิจกรรมบำบัด มีวุฒิปริญญาสาขากิจกรรมบำบัด และมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ กิจกรรมบำบัด ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๗) ครู ครูการศึกษาพิเศษ และบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ที่ปฏิบัติหน้าที่นักจิตวิทยาคลินิก มีวุฒิปริญญาสาขาจิตวิทยาคลินิก และมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ จิตวิทยาคลินิก ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๘) ครู ครูการศึกษาพิเศษ และบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ที่ปฏิบัติหน้าที่นักวิชาชีพอื่น เช่น นักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย เป็นต้น มีวุฒิปริญญาและมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ตามสาขาเฉพาะทาง เช่น สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย เป็นต้น ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๙) บุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาหรือรองผู้บริหารสถานศึกษา ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาเฉพาะความพิการ มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาพิเศษ ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือน และมีวุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๑๐) บุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาหรือรองผู้บริหารสถานศึกษา ที่ปฏิบัติงานในศูนย์การศึกษาพิเศษ มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาพิเศษ ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือน และมีวุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๑๑) บุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาที่จัดการเรียนร่วม มีวุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
๑๒) บุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ตำแหน่งรองผู้บริหารสถานศึกษา ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาที่จัดการเรียนร่วม มีวุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๒,๕๐๐ บาทต่อเดือน
► สถานะการเงินและการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ
ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนฯ ตามความในมาตรา ๒๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑ และระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าด้วยการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงิน การจัดทำรายงานสถานะการเงิน และการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๒ หมวด ๕ ข้อ ๒๕ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ รายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนต่อคณะกรรมการ อย่างน้อยปีละ ๓ ครั้ง ดังนี้
- วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ มีรายได้รวม ๑๕๔,๙๕๕,๒๙๘.๐๑ บาท มีรายจ่าย ๑๒,๐๗๔,๒๓๙.๐๑ บาท
- วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ มีรายได้รวม ๑๕๔,๙๖๑,๙๑๒.๖๐ บาท มีรายจ่าย ๖๘,๕๑๙,๘๑๒.๘๐ บาท
- วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ มีรายได้รวม ๑๕๔,๙๗๙,๙๔๐.๙๕ บาท มีรายจ่าย ๘๕,๖๐๐,๓๓๔.๕๑ บาท
► เห็นชอบการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
รมว.ศธ.กล่าวว่า จากการที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จำนวน ๑๓ คน ดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว จึงจำเป็นต้องสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาแทนที่ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบให้ดำเนินการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ทั้ง ๑๓ คน โดยใช้วิธีเดียวกับการสรรหาครั้งแรก คือ ประกาศรับสมัครผู้ที่มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในด้านการบริหารการศึกษา ด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ ด้านกฎหมาย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ และด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านรวมกัน จากนั้นดำเนินการคัดเลือกให้เหลือ ๖ คน ส่วนที่เหลือให้ ๗ องค์กรผู้พิการที่จดทะเบียนกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอชื่อผู้แทนคนพิการ อีก ๗ คน และเสนอ รมว.ศธ.ลงนามแต่งตั้งต่อไป
► เห็นชอบการแต่งตั้งประธานอนุกรรมการ
จากการที่ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ขอลาออกจากการเป็นกรรมการหรือนุกรรมการหรือคณะทำงานในทุกตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือโดยหน่วยงานต่างๆ ของ ศธ. เนื่องจากได้รับการสรรหาเป็นกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบแต่งตั้งประธานอนุกรรมการแทน ดังนี้
๑) นายเอกศักดิ์ คงตระกูล เป็นประธานอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ด้านกฎหมาย
๒) นายวีระแมน นิยมพล เป็นประธานอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาตรฐานสากล
► เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖
ที่ประชุมเห็นชอบ แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ในการสนับสนุนโครงการหน่วยงานภาครัฐ/องค์กรเอกชน กรอบวงเงิน ๑๕๐ ล้านบาท ภายใต้แผนดำเนินการตาม ๗ ยุทธศาสตร์ ดังนี้
๑) ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เพิ่มโอกาสให้คนพิการได้รับบริการทางการศึกษา ๔๖.๗๗ ล้านบาท
๒) ยุทธศาสตร์ที่ ๒ พัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลให้เหมาะสม ๑๐.๔๕ ล้านบาท
๓) ยุทธศาสตร์ที่ ๓ พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ๓๙.๘๙ ล้านบาท
๔) ยุทธศาสตร์ที่ ๔พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้สำหรับคนพิการ ๓.๕ ล้านบาท
๕) ยุทธศาสตร์ที่ ๕ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ๔๒.๖๒ ล้านบาท
๖) ยุทธศาสตร์ที่ ๖ พัฒนาระบบการบริหารและกลไกในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ๖.๗๗ ล้านบาท
๗) ยุทธศาสตร์ที่ ๗ ปฏิรูประบบการเงิน การคลัง และงบประมาณเพื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ
รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมในประเด็นต่างๆ ว่า การอนุมัติกรอบงบประมาณตามยุทธศาสตร์นั้น ได้มอบนโยบายให้เร่งผลักดันให้คนพิการได้มีโอกาสอย่างเต็มที่ในทุกระดับการศึกษาจนจบปริญญาตรี ซึ่งในปีนี้ได้ส่งเสริมให้คนพิการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาจำนวน ๙๐๐ คน รวมของเดิมที่เรียนอยู่แล้ว ๒,๔๐๐ คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓,๓๐๐ คน โดย ศธ.ได้จัดสรรทุนให้ตามสาขาที่เรียน ในส่วนของทุนค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าล่ามสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน การพูดนั้น ศธ.ได้ดำเนินการจัดหาสำหรับผู้พิการที่อยู่ในระบบอุดมศึกษาทั้งหมด ซึ่งได้มอบหมายต่อที่ประชุมให้รวบรวมจำนวนผู้ที่ต้องการค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้
สำหรับการดูแลเด็กพิการในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะนี้ สพฐ.มีเด็กพิการอยู่ในโรงเรียนเรียนร่วมประมาณ ๒๗๐,๐๐๐ ซึ่งก็ดูแลเหมือนกับนักเรียนปกติ และจะมีครูที่ดูแลเด็กเป็นพิเศษอยู่แล้วตามความพิการ ส่วนอีกประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กประจำอยู่ในโรงเรียนเฉพาะของความพิการ ก็จะมีความเป็นอยู่เหมือนกับเด็กทั่วๆ ไป ซึ่งจะมีครูดูแลเรื่องการจัดการเรียนการสอน ความเป็นอยู่ ซึ่งก็พยายามให้เขาได้ช่วยเหลือตัวเอง ได้สามารถประกอบอาชีพได้ ตามที่เขาจะสามารถทำได้ตามศักยภาพของความพิการที่มีอยู่
ส่วนการเสนอออกสลากพิเศษ มูลค่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทนั้น ทาง ศธ.ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงการคลังแล้ว แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ ซึ่ง ศธ.จะสอบถามความคืบหน้าไปอีกครั้ง
นอกจากนี้ ศธ.ได้มีนโยบายพิเศษเพื่อส่งเสริมและช่วยให้เด็กที่บกพร่องทางการได้ยิน (หูหนวก)สามารถกลับมาได้ยินอีกครั้ง ภายใต้ชื่อโครงการ “หนูอยากได้ยินเสียงแม่” ว่า จะประกาศเป็นนโยบายและจัดแคมเปญเพื่อร่วมจัดหาหูฟังให้กับเด็กเหล่านี้ ทำให้มีพวกเขามีชีวิตที่ปกติ โดยจะให้โรงเรียนสำรวจจำนวนนักเรียนก่อนและเสนอเรื่องมายัง ศธ. ซึ่งคาดว่ามีกว่า ๑,๐๐๐ คน จากนั้นจะพิจารณาเป็นรายๆ เพราะระดับความบกพร่องทางการได้ยินมีหลายระดับ หากพอจะยังสามารถช่วยแก้ไขได้ ก็จะแก้ไขให้ แต่หากโรงเรียนสามารถระดมทรัพยากรมาแก้ไขเรื่องนี้ได้เอง ก็จะเป็นการดี
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/sep/258.html