คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากความไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้
ศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ.
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ สะบ้าย้อย นาทวี และเทพา) มีผลทำให้เกิดความรุนแรงและนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ครู รวมถึงชาวบ้าน โดยเฉพาะข้าราชการครูซึ่งจะต้องเดินทางไปโรงเรียนตั้งแต่เช้าเพื่อไปสอนหนังสือ รวมทั้งช่วงเวลาในการกลับบ้านในเวลาค่ำคืน ซึ่งต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะได้รับการคุ้มกันจากทหารอย่างดี แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิตและทุพพลภาพ หลายราย เนื่องจากครูเป็น 1 ในเป้าหมายของผู้ก่อความไม่สงบ
ก.ค.ศ.ซึ่งเป็นองค์กรกลางการบริหารงานบุคคล ดูแลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ให้ความสำคัญในการดูแล ช่วยเหลือ เยียวยาทายาทของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว มีทั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และข้าราชการสังกัดอื่นมาโดยตลอด โดยมอบให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้งในส่วนราชการพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่ ก.ค.ศ.กำหนด และเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา ก.ค.ศ.ได้ดูแลช่วยเหลือทายาทของผู้ได้รับผลกระทบทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 50 ราย ถือเป็นบทบาทสำคัญที่ ก.ค.ศ. ได้ดูแลและสร้างขวัญ กำลังใจ สำหรับครอบครัวของข้าราชการครูผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ก.ค.ศ.ยังได้ดูแลในเรื่องความก้าวหน้าของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ สะบ้าย้อย นาทวี และเทพา) เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา และหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเพื่อให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ เป็นหลักเกณฑ์เฉพาะตามข้อจำกัดของพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุด ก.ค.ศ.โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด/อำเภอ รวม 3 หลักเกณฑ์ ดังนี้
1.หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด
2.หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน การศึกษาเอกชนจังหวัด
3.หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน การศึกษาเอกชนอำเภอ
โดยรายละเอียดของทั้ง 3 หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา ดังกล่าว สำนักงาน ก.ค.ศ.จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน