เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 นางอรทัย ไพรบึง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาล (รพ.) ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงผลการวิจัย สาขาการแพทย์ เรื่อง "การศึกษาประสิทธิผลการห้ามเลือดโดยใช้ใบสาบเสือแบบแห้งและก๊อช" ว่า จากการวิจัยกึ่งทดลอง พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 15 รายอายุเฉลี่ย 37 ปี ขนาดแผลส่วนใหญ่ยาว 4-6 เซนติเมตร ลึก 0.5-0.7 เซนติเมตร ตำแหน่งบาดแผลส่วนใหญ่เกิดบริเวณขาผู้ป่วย ที่ใช้ใบสาบเสือแบบแห้งห้ามเลือดมีระยะเวลาเฉลี่ยที่ทำให้เลือดหยุดเท่ากับ 12.6 นาที เร็วกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ 15 ราย ที่ใช้ก๊อซที่ใช้เวลาเฉลี่ย 17.6 นาที
นอกจากนั้น การใช้ใบสาบเสือแห้งทำให้ลิ่มเลือดซึ่งทำให้เลือดด้านในไม่ไหลออกมาเพิ่ม ขณะที่การใช้ก๊อซไม่เกิดลิ่มเลือด ผลการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่เลือดหยุดของกลุ่มทดลองที่ใช้ใบสาบเสือแห้งใช้เวลาน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบที่ใช้ก๊อซอย่างมีนัยสำคัญทางสถิต
Advertisement
สำหรับขั้นตอนการใช้ใบสาบเสือแห้งในการห้ามเลือด เริ่มจากการคัดเลือกใบสาบเสือชนิดสมบูรณ์ นำมาล้างทำความสะอาด หั่นฝอยตากแห้งโดยไม่ตากแดดโดยตรง นำมาบรรจุใส่ถุงชาเพื่อนึ่งฆ่าเชื้อ แล้วนำใบสาบเสือแห้งห้ามเลือด ซึ่งแผลที่ใช้ใบสาบเสือห้ามเลือดเป็นแผลที่เกิดการฉีกขาดถึงระดับเส้นเลือดฝอย ไม่ได้ฉีกขาดถึงระดับเส้นเลือดแดงหรือเส้นเลือดดำ ข้อสรุปจากการวิจัยครั้ง นี้ การใช้ใบสาบเสือแบบแห้งสามารถห้ามเลือดใช้ระยะเวลาน้อยกว่าก๊อซ ผู้ป่วยบาดแผลที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป เป็นจุดที่ควรมีการพัฒนาต่อเพื่อแปรรูปสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้วงการแพทย์
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555