นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้นำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยจูงใจให้ทุกคนหันมาสนใจการสอบ O-NET และเอาใจใส่ในการพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องพยายามป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในทางลบด้วย เพราะไม่ว่าเรื่องใดก็ตามที่เป็นเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทน และความเจริญก้าวหน้าของครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็อาจจะเกิดการทุจริตได้ เช่น อาจจะมีการบริหารการสอบที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น
จึงจำเป็นต้องมีการป้องปรามตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูฯ มีและเลื่อนวิทยฐานะ ด้วยการประเมินสมรรถนะ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ ที่ให้พิจารณาจากผล O-NET ของนักเรียนด้วย
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะให้โรงเรียนทุกแห่ง จัดทำประวัติคะแนนการสอบ O-NET ที่ผ่านมาของโรงเรียนไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้ทราบว่าในแต่ละปีโรงเรียนมีการพัฒนาเป็นอย่างไร และ สพฐ.จะได้ทราบว่าด้วยว่า เมื่อมีการใช้คะแนน O-NET มาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินวิทยฐานะแล้ว โรงเรียนใดมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดหรือไม่ โดยจะต้องมีการเทียบเคียงแนวโน้มของแต่ละโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนและการกระทำที่ไม่สุจริต ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วการพัฒนาที่สูงขึ้นประมาณ 3-5% เป็นวิสัยที่ สพฐ.ยอมรับได้ แต่โรงเรียนใดที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดประมาณ 10-15% คงต้องจับจ้องเป็นพิเศษ และไปศึกษาว่าโรงเรียนแห่งนั้นมีเทคนิค และวิธีการอย่างไรถึงได้ประสบความสำเร็จเช่นนี้ รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การสอบ O-NET มีมาตรฐาน และน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่มา สยามรัฐ