เมื่อวันที่ 4 ก.ย.55 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการขับเคลื่อนการนำผลคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มาใช้ให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งหลังจากนี้ สพฐ.จะวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก ของคะแนน O-NET ในระดับชั้น ป.6 ม.3 และม.6 เพื่อที่จะสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่า พื้นที่ใดที่ประสบความสำเร็จ และพื้นที่ใดมีปัญหา พร้อมกันนี้จะวิเคราะห์ด้วยว่าโรงเรียนที่มีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โรงเรียนในเมือง นอกเมือง และโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีประจำตำบล มีข้อค้นพบอย่างไรบ้าง ซึ่งในเบื้องต้นเริ่มมีข้อสังเกตบางประการว่า โรงเรียนนอกเมืองมีแนวโน้มพัฒนาการที่สูงขึ้น และบางพื้นที่มีพัฒนาการที่สูงกว่าโรงเรียนในเมืองด้วยซ้ำ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จะวิเคราะห์ลงลึกไปถึงมาตรฐานการเรียนรู้ เพื่อจะได้ทราบว่าในรายวิชาใดที่ยังมีปัญหา และมีมาตรฐานใดที่จะต้องเร่งพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น วิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่ สพฐ. กำลังให้ความสำคัญมาก แต่เหตุใดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ยังไม่มีพัฒนาการที่ชัดเจน ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะต้องหาคำตอบกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะเชื่อมโยงคะแนน O-NET กับการบริหารงานบุคคล และการพัฒนาครู จึงได้กำหนดแนวทางให้มีการนำคะแนนเฉลี่ย O-NET ระดับประเทศ ในแต่ละกลุ่มวิชาของ สพฐ.มาขีดเส้นสีแดงโดยโรงเรียน และเขตพื้นที่ใดมีค่าเฉลี่ยคะแนน O-NET อยู่ต่ำกว่าเส้นสีแดง ก็จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องเร่งรัด และส่งเสริมให้มากขึ้น
"ขณะเดียวกันจะมีการขีดเส้นสีเขียว ที่เปอร์เซ็นต์ไทร์แรงค์ที่ 70 ซึ่งเส้นนี้จะอยู่เหนือเส้นสีแดงขึ้นไป โดยโรงเรียนและเขตพื้นที่ใด ที่มีคะแนนเฉลี่ย O-NET ของนักเรียนอยู่เหนือเส้นสีเขียว สพฐ.จะดึงครูมาเป็นวิทยากรประจำเขตพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางวิชาการของแต่ละเขตพื้นที่ ทั้งนี้ การกำหนดเส้นสีเขียว จะใช้เชื่อมโยงกับการยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ ที่เน้นสมรรถนะของครูผู้สอน และผลที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนด้วย ดังนั้น โรงเรียนใดที่ผลคะแนนของนักเรียนอยู่เหนือเส้นสีเขียว ก็จะทำให้มีผลต่อการประเมินวิทยฐานะ ความเจริญก้าวหน้าของครูผู้สอนแต่ละคน รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรให้แต่ละโรงเรียนด้วย" นายชินภัทร กล่าว
ที่มา สยามรัฐ