การประชุมคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติเด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ตามนโยบายรัฐบาล พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ ประกอบด้วย ๔ ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เด็กทุกคนได้รับบริการในการพัฒนาเต็มศักยภาพ
โดยมีนโยบายเพื่อเร่งรัดให้เด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ทุกคน ได้รับการพัฒนารอบด้าน ตามวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง และมีเป้าหมาย ต้องการให้เด็กทุกคนในช่วงอายุแรกเกิดถึง ๕ ปี หรือก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้รับบริการด้านสุขภาพ ภายในปี ๒๕๕๙ เด็กแรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑ ร้อยละ ๙๐ มีพัฒนาการตามวัย ภายในปี ๒๕๕๙ เด็กทุกคนในช่วงอายุ ๓ ปี ถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่มีความต้องการ ได้รับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกรูปแบบ ภายในปี ๒๕๕๙ เด็กทุกคนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑ เมื่ออายุครบ ๖ ปีตามพระราชบัญญัติการศึกษาการศึกษาภาคบังคับ ภายในปี ๒๕๕๙
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ ไอโอดีนกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
โดยมีนโยบายเพื่อเร่งรัดให้เด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ทุกคน ได้รับการพัฒนารอบด้าน ตามวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง และมีเป้าหมายต้องการให้เด็กแรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้รับไอโอดีนในอาหารอย่างเพียงพอ หญิงตั้งครรภ์ทุกคนต้องได้รับไอโอดีนในอาหารอย่างเพียงพอ และได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกคนระยะ ๖ เดือนแรกต้องได้รับไอโอดีนในอาหารอย่างเพียงพอ และได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
โดยมีนโยบายเพื่อเร่งรัดให้เด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ทุกคน ได้รับการพัฒนารอบด้านตามวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง และมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ทุกคนได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพเพื่อมีพัฒนาการอย่างรอบด้านและตามวัย
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ กลไกการดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัย
โดยมีนโยบายเพื่อเร่งรัดให้เด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ทุกคน ได้รับการพัฒนารอบด้าน ตามวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง และมีเป้าหมายเพื่อกำกับติดตามมาตรการที่แต่ละกระทรวงกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและมติของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) มีคณะกรรมการระดับจังหวัดภายในปี ๒๕๕๙ ระบบข้อมูลด้านเด็กปฐมวัย การสำรวจข้อมูล การวิจัยต่างๆสามารถช่วยในการวางแผน และติดตามประเมินสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/aug/230.html