สพฐ.ใช้ฟาสต์แทร็กเลื่อนวิทยฐานะ 1 ปี ทำแต้ม'ชก.70% - ชกพ. 75% - ชช.80%' คาด ก.ค.ศ.เปิดให้ยื่นขอประเมินปีนี้
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้อนุมัติในหลักการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะด้วยข้อตกลงการปฏิบัติงาน (Performance Agreement) นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ทำเรื่องถึง สพฐ.เพื่อให้พิจารณาว่าจะปรับปรุงแก้ไขอะไรเพิ่มเติมบ้างก่อนที่จะประกาศใช้ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. โดยขอให้ปรับแก้เพิ่มเติม ดังนี้ ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดให้ทำข้อตกลงเป็นระยะเวลา 2 ปีนั้น สพฐ.เห็นด้วย แต่กรณีของผู้ที่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว มีผลคะแนนการประเมินของคณะกรรมการประเมินทั้ง 3 คนเป็นเอกฉันท์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 สำหรับวิทยฐานะชำนาญการ (ชก.), ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (ชกพ.), ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญ (ชช.) และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ (ชชพ.) ขอให้สามารถฟาสต์แทร็กหรือเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.หรือคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาแล้วแต่กรณี พิจารณาอนุมัติการเลื่อนวิทยฐานะได้ในปีเดียวเลย
"ที่มีการทำข้อตกลงว่าจะต้องมีการประเมินวิทยฐานะ โดยภายใน 1 ปี จะต้องประเมิน 3 ครั้ง คือประเมินก่อนการปฏิบัติงาน ประเมินระหว่างการปฏิบัติงาน และประเมินหลังการปฏิบัติงาน โดยคณะกรรมการมี 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการกลั่นกรอง ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อตกลงและตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอประเมินวิทยฐานะว่าถูกต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้หรือไม่ จากนั้น ถ้าตรวจสอบผ่าน คณะกรรมการประเมิน ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดที่ 2 จะทำหน้าที่ประเมินก่อนการปฏิบัติงานและประเมินระหว่างการปฏิบัติงาน ภาคเรียนละ 2 ครั้ง มีการประเมิน นิเทศและแนะนำ จากนั้น เมื่อครบ 2 ภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษา คณะกรรมการประเมิน จะประเมินหลังการปฏิบัติงานว่าผ่านหรือไม่ ถ้าปีแรกผลการประเมินไม่ผ่าน ไม่เป็นไร สามารถแก้ตัวในปีการศึกษาใหม่ได้ แต่ถ้าปีแรกคะแนนผลการประเมินหลังการปฏิบัติงานออกมาดี โดยสำหรับผู้ที่ขอวิทยฐานะ ชก. ถ้าสามารถทำคะแนนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 วิทยฐานะ ชกพ. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 วิทยฐานะ ชช. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และวิทยฐานะ ชชพ. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 ขอให้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษที่สามารถเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ. หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาแล้วแต่กรณี พิจารณาอนุมัติเลื่อนวิทยฐานะได้เลย ทั้งนี้ จากร่างหลักเกณฑ์เดิม ที่กำหนดว่ากรณีปกติ ต้องครบ 2 ปีการศึกษา จึงจะสามารถเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ. หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาแล้วแต่กรณี พิจารณาอนุมัติ โดยวิทยฐานะ ชก. ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 65 วิทยฐานะ ชกพ. ไม่ต่ำกว่า 70 วิทยฐานะ ชช. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และวิทยฐานะ ชชพ.ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ตามลำดับ" นายไกรกล่าว
นายไกรกล่าวต่อว่า คาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะใช้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่จะยื่นขอรับการประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ โดยผู้ที่ทำวิจัยเก่ง สามารถเลือกการประเมินวิทยฐานะตาม ว 17 แต่ถ้าใครมีผลงานการประกวดมากมาย ก็สามารถเลือกการประเมินตาม ว 5 หรือใครถนัดที่จะขอรับการประเมินโดยการทำข้อตกลง ก็สามารถยื่นตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้ได้ ซึ่งถือว่าจะช่วยกระตุ้นและพัฒนาการศึกษาได้อย่างมาก
ด้านนายกมล ศิริบรรณ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องนำเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้พิจารณาอีกครั้งเพื่อความรอบคอบแม้จะได้มีการอนุมัติในหลักการแล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน