จังหวัดสุรินทร์ - ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ณ อาคารล้านช้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
รมว.ศธ.กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับ “กองทุนตั้งตัวได้” ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้
เห็นชอบให้จัดตั้งทุนหมุนเวียนเป็นกองทุนตั้งตัวได้ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหลักการการดำเนินการกองทุนตั้งตัวได้ตามที่ ศธ.เสนอ
เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานดำเนินการของกองทุนตั้งตัวได้ ซึ่งขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๖ จากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็น สกอ. ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
งบประมาณที่ตั้งไว้ที่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มอบหมายให้ ศธ.และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหารือแนวทางการบริหารจัดการเงินดังกล่าวตามข้อสังเกตของสำนักงบประมาณ
เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนตั้งตัวได้ พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบและร่างหลักการฯ
๑) ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย กองทุนตั้งตัวได้ พ.ศ. ....
♦ กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนตั้งตัวได้” ใน ศธ. ประกอบด้วยเงินทุนประเดิมและเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมายอื่น เป็นต้น และให้การใช้จ่ายเงินกองทุนเป็นไปเพื่อกิจการตามที่กำหนด
♦ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายกองทุนตั้งตัวได้ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
♦ กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ ประกอบด้วยประธานกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้ง กรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด กำหนดอำนาจหน้าที่ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง
♦ กำหนดให้มีสำนักงานกองทุนตั้งตัวได้ เป็นหน่วยงานภายใน สกอ. โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (เดิมให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)
♦ กำหนดให้คณะกรรมการ คณะกรรมการบริหารกองทุน ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน โดยเบิกจ่ายจากเงินของกองทุนตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
♦ กำหนดให้กองทุนสนับสนุนทางการเงินแก่นักศึกษาที่ประสงค์จะเป็นผู้ประกอบการภายใต้วัตถุประสงค์กองทุน และนโยบายของคณะกรรมการ และให้ขอบเขตการสนับสนุนทางการเงิน และหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับและการพิจารณาการสนับสนุนทางการเงิน เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนดโดยต้องเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการ และกำหนดแนวทางการดำเนินการการสนับสนุนทางการเงินของคณะกรรมการบริหารกองทุน
♦ กำหนดให้การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน ตลอดจนการนำส่งเงิน การบริหารกองทุนและการจัดหาผลประโยชน์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนด
♦ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีกองทุน การรายงานผลการตรวจสอบงบการเงิน และการจัดทำรายงานการเงินในภาพรวม
♦ กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการของกองทุน
๒) ร่างหลักการกองทุนตั้งตัวได้ ประกอบด้วย
♦ วัตถุประสงค์ของกองทุน และเป้าหมายในเชิงปริมาณและคุณภาพ
♦ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาที่ศึกษาอยู่ หรือสำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน ๕ ปีการศึกษา และสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการบ่มเพาะวิสาหกิจ หรือการให้การช่วยเหลือด้านการเงิน
♦ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบายและการประสานงานจำนวน ๑๐ หน่วยงาน และทุนหมุนเวียนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
♦ ระยะเวลาเบื้องต้นในการดำเนินการ ๔ ปี โดยจะเป็นการฝึกอบรม คัดเลือก และการบ่มเพาะในมหาวิทยาลัย ร่วมกับการวิจัยศึกษากรณีความสำเร็จร่วมกับการปล่อยสินเชื่อและทุนหมุนเวียน โดยอาจมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย
♦ โครงสร้างการบริหารงานทุนหมุนเวียน ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหารกองทุน คณะกรรมการพิจารณากองทุน (กองทุนร่วมทุน) และกรรมการบริหารความเสี่ยง
♦ แผนการดำเนินงาน และแนวทางวิธีดำเนินการ
♦ แหล่งเงินทุนของกองทุน ประกอบด้วย เงินทุนประเดิมและเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมายอื่น เป็นต้น
♦ ประมาณการรายรับ ได้แก่ ทุนประเดิมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๖ จำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท เงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๕๙ จำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท และ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ตามลำดับ
♦ ประมาณการรายจ่าย ได้แก่ รายจ่ายสนับสนุนสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการสถาบันละไม่เกิน ๑,๐๐๐ ล้านบาทในการดำเนินการด้านการบ่มเพาะ การพิจารณาสนับสนุนการลงทุนและสินเชื่อ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบริหารกองทุน
♦ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเงิน และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/jul/206.html