มีชาวไทยพื้นเมืองเรียกว่า ส่วย หรือ กวย หรือ กูย อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมือง ประทายสมันต์ หรือ จ.สุรินทร์ ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มชนที่มีความรู้ความสามารถในการจับ ช้างป่า มาเลี้ยงไว้ใช้งาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2302 มี ช้างเผือก แตกโขลงออกจากเมืองหลวงหนีเข้าป่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์) แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดเกล้าฯ ให้ติดตามช้างเผือก เชียงปุม ซึ่งเป็นหัวหน้าชาวส่วยได้ช่วยเหลือการติดตามช้างเผือกกลับมาได้ จึงพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสุรินทรภักดี ปกครองหมู่บ้านเดิมขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย ก่อนเลื่อนเป็น พระสุรินทรภักดีศรีรณรงค์จางวาง
ต่อมา พ.ศ. 2324 เมืองเขมรเกิดจลาจล เมืองประทายสมันต์ได้สมทบกับกองทัพหลวงไปช่วยปราบปราม จึงมีชาวเขมรอพยพครอบครัวมาตั้งอยู่ในเขตเมืองประทายสมันต์เป็นจำนวนมาก ถัดมาอีก 5 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง กระทั่ง พ.ศ. 2337 พระยาสุรินทรภักดีฯ เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม
อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีฯ เป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำ สูง 2.2 เมตร มือขวาถือของ้าว แสดงถึงความเก่งกล้าสามารถในการบังคับช้างศึก พร้อมสะพายดาบคู่ หมายถึง ความเป็นนักรบความกล้าหาญ เป็นคุณสมบัติที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์มาถึงวันนี้.
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์