ดูท่าจะลากยาวกลายเป็นหนังหลายม้วนจบ สำหรับปัญหาการสอบแข่งขันผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยนับตั้งแต่มีการประกาศผลสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยมีผู้สอบผ่านขึ้นบัญชีรวม 1,658 จากอัตราว่างจำนวน 2,495 อัตรา มีการฟ้องศาลปกครองไปแล้วหนึ่งเคส
และล่าสุดกำลังจะเกิดอีกเคส ถ้าคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไม่เร่งเคลียร์
เคสแรก เกิดจากการที่ สพฐ.เรียกบรรจุบัญชีรวมครั้งแรก 724 อัตรา ตามที่มีอัตราว่าง ณ ปัจจุบัน โดยได้เรียก 724 ลำดับแรกที่สอบขึ้นบัญชีให้มาเลือกสถานศึกษาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่เกิดปัญหาว่าโรงเรียนที่ว่างไม่ใช่โรงเรียน 5 แห่ง ที่ผู้สอบขึ้นบัญชีได้แสดงเจตจำนงไว้ในตอนสมัคร
ยิ่งกว่านั้นโรงเรียนเหล่านั้นอยู่คนละภูมิภาคกับภูมิลำเนาของผู้สอบขึ้นบัญชีได้ บางคนอยู่ภาคอีสานแต่โรงเรียนที่ว่างอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือไม่ก็ในพื้นที่อมก๋อย ซึ่งตามหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ.บังคับให้ผู้สอบขึ้นบัญชีได้ ต้องเลือกโรงเรียนที่ว่างเหล่านั้น แม้ว่าจะอยู่ไกลคนละโยชน์ก็ตาม ไม่เช่นนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์ และจะมีผลให้บัญชีของเขตพื้นที่การศึกษาถูกสละสิทธิ์ไปด้วย
เรื่องนี้ทำให้หลายคนจำใจต้องเลือกโรงเรียนเหล่านั้น เพราะหวั่นจะถูกตัดสิทธิ์ เนื่องจากการสอบผู้บริหารสถานศึกษา ไม่ใช่สอบผ่านกันได้ง่ายๆ ยิ่งกว่านั้น ครั้งนี้ที่ออกข้อสอบโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่รับรู้กันว่าข้อสอบหิน จึงมีผู้สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 แค่ 2,882 คน จากยอดผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 15,292 คน แต่ขึ้นบัญชีตามอัตราว่างถึงปีงบประมาณ 2556 ได้แค่ 1,658 คนเท่านั้น อีกทั้งการขึ้นบัญชีมีอายุถึง 2 ปี ถ้าไม่เลือกโรงเรียน ก็ต้องรออย่างน้อยอีก 2 ปีถึงจะเปิดสอบใหม่
ฉะนั้น หลายคนจึงจำใจเลือกโรงเรียน แม้จะรู้ว่าเลือกไปแล้ว การจะทำเรื่องขอย้ายกลับในภายหลังดั่งที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยาหอมต่อนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ที่ผ่านมาว่า จะพิจารณาให้ย้ายกลับเป็นรายกรณีไปนั้น ดำเนินการตามนั้นได้ยาก
ขณะเดียวกันมีอีกหลายคนที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับกติกา อย่างน้อยก็ประมาณ 10 คน ที่มองว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะการที่ผู้สอบขึ้นบัญชีได้ในบัญชีรวมของ สพฐ. ไม่ยอมเลือกโรงเรียนที่ว่าง อันเนื่องจากไม่มีโรงเรียนว่างใกล้ๆ กับที่แสดงเจตจำนงไว้ 5 แห่ง แล้วจะมีผลให้ต้องถูกตัดสิทธิในบัญชีเขตพื้นที่การศึกษาไปด้วย
ดั่ง นายปราโมทย์ ห้อยทอง ครูชำนาญการโรงเรียนคุรุสามัคคี อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ที่สอบขึ้นบัญชีผู้อำนวยการสถานศึกษา กลุ่มประสบการณ์ได้ในลำดับ 43 ไม่ยอมรับกติกาดังกล่าว โดยนายปราโมทย์ไม่ยอมเลือกลงโรงเรียนว่างที่เหลืออยู่เพราะไกลจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาก จึงได้ทำบันทึกขอสละสิทธิ์ และได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งให้ ก.ค.ศ. หรือ สพฐ. ไม่ให้ยกเลิกการขึ้นบัญชีเขตพื้นที่การศึกษาในกรณีที่ผู้สอบได้ไม่เลือกลงสถานศึกษา รวมทั้งขอให้ออกคำสั่งให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้บริหารสถานศึกษาโดยจะต้องไม่มีการตัดสิทธิในกรณีที่ไม่สามารถบรรจุได้ด้วย
กรณีดังกล่าวเจ้ากระทรวงอย่างนายสุชาติดูจะรับรู้และเห็นใจอยู่ เพราะได้สั่งการให้สำนักงาน ก.ค.ศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันพิจารณาปรับแก้หลักเกณฑ์ให้เป็นธรรม ก่อนนำเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณาอนุมัติ แต่ทั้งนี้คงไม่มีผลย้อนหลัง
นอกจากนี้ ยังมีอีกเคสที่มีแนวโน้มว่าจะฟ้องศาลปกครองเช่นกัน คือ กรณีของ นายศรีทัศน์ วิรัสวา รองผู้อำนวยการโรงเรียนศิริราษฎร์วิทยาคาร อ.เมือง จ.สกลนคร ที่สอบบรรจุผู้บริหารสถานศึกษาผ่านเกณฑ์คะแนนร้อยละ 60 แต่ไม่ได้รับการขึ้นบัญชี เนื่องจากหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ.ระบุว่าจะประกาศรายชื่อผู้ขึ้นบัญชีเท่ากับอัตราว่างที่คาดว่าจะบรรจุในปีงบประมาณ 2554-2556 เท่านั้น ซึ่งนายศรีทัศน์มองว่าทำให้ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ 60% เสียสิทธิ เพราะอัตราที่ สพฐ.ประกาศเพื่อบรรจุ ของปีงบประมาณ 2555-2556 นั้น มีมากกว่าอัตราที่ สพฐ.ได้ประกาศ ที่สำคัญในส่วนของการสอบบรรจุครูผู้ช่วย หรือการสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับการประกาศขึ้นบัญชีทั้งหมด
ฉะนั้น นายศรีทัศน์จึงได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. รวมถึง ก.ค.ศ.เพื่อทวงสิทธิในการบรรจุแต่งตั้งภายหลังการย้ายปีงบประมาณ 2556 โดยนายศรีทัศน์ขอให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ซึ่งมีอยู่ 1,224 คน ขึ้นบัญชีทั้งหมด และหาก ก.ค.ศ.ไม่แก้ไขจะฟ้องศาลปกครอง
เจ้ากระทรวงในฐานะประธานบอร์ด ก.ค.ศ.คงต้องเร่งวินิจฉัยทางใดทางหนึ่งเพื่อเยียวยาปัญหาหรือไม่ก็เร่งทำความเข้าใจ หาไม่แล้วหากมีการฟ้องศาลปกครองอีก และศาลวินิจฉัยในทางที่ไม่เป็นบวกต่อ ก.ค.ศ. ก็อาจส่งผลให้การบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียน โดยเฉพาะที่จะมีเกิดขึ้นอีกในเดือนตุลาคม 2555 และจำนวน 576 อัตรา และเดือนตุลาคม 2556 อีกจำนวน 358 อัตรา ก็จะเกิดปัญหาชะงักได้
เร่งแก้ไขเยียวยาก่อนปัญหาสอบบรรจุผู้บริหารสถานศึกษาจะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้
ขติยา มหาสินธ์
oui1@hotmail.com
ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 21 กรกฎาคม 2555 หน้า 16
ดูข่าวหนังสืิอพิมพ์