ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ได้เปิดเผยผ่านคอลัมน์ ที่นี่มีคำตอบ จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 5/2555 ดังนี้ครับ
ถึงพี่น้องชาวแผนและท่านที่สนใจทุกท่าน
ครั้งแรกผมคิดว่า จดหมายฉบับที่ 4/2555 จะเป็นฉบับสุดท้ายสำหรับเวทีนี้สำหรับผมเสียอีก แต่ท่านเลขาธิการได้กรุณาให้ความไว้วางใจให้ดูแลสำนักนโยบายและแผนไปก่อนจนกว่าจะมีผู้อำนวยการท่านใหม่ พอดีช่วงนี้มีความเคลื่อนไหว เรื่องเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว จากกรมบัญชีกลาง จึงขอส่งข่าวถึงพี่น้องที่รอคอยอยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ ฉบับนี้ขอเรื่องเดียวครับ
เมื่อ 13 มกราคม 2555 กระทรวงการคลังได้ออกระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 มกราคม 2555 จากระเบียบฯ นี้ ทำให้เราทราบว่า ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว มีสิทธิจะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพดังกล่าว ซึ่งหากมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีเงินเดือน/ค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 15,000 บาท จะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว เพิ่มจากเงินเดือน/ค่าจ้าง อีกจนถึง 15,000 บาท ถ้าใช้วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี เงินเดือน/ค่าจ้าง ไม่ถึง 12,285 บาท/เดือน ให้ได้รับเงินค่าครองชีพชั่วคราวเดือนละ 1,500 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือน/ค่าจ้างแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 12,285 บาท ถ้าเงินเดือน/ค่าจ้างไม่ถึง 9,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่ม จนถึง 9,000 บาท/เดือน ซึ่งระเบียบฯ ดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังส่วนราชการต่างๆ ตามหนังสือ ที่ กค 0406.4/ว.22 ลงวันที่ 20 มกราคม 2555 เมื่อดูระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างของส่วนราชการ ซึ่งได้นิยามลูกจ้างชั่วคราวไว้ว่า “เป็นลูกจ้างรายเดือน รายวัน และรายชั่วโมง ที่จ้างไว้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะชั่วคราว และหรือมีกำหนดเวลาจ้าง แต่ทั้งนั้นระยะเวลาการจ้างต้องไม่เกินปีงบประมาณ”
จากนั้นกระทรวงการคลัง ก็แจ้งให้ส่วนราชการทราบว่าลูกจ้างชั่วคราว ที่จ้างจากเงินนอกงบประมาณ ก็สามารถรับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวได้ด้วย ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจ ของส่วนราชการในการช่วยเหลือเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ส่วนราชการจะต้องมีเงินนอกงบประมาณเพียงพอในการจ่ายเงินดังกล่าว ซึ่งแจ้งโดยหนังสือ กค 0428/ว.12 ลงวันที่ 25 มกราคม 2555
ในช่วงกลางเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2555 ส่วนราชการจำนวนมากรวมทั้ง สพฐ. ก็หารือไปยังกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับนิยามคำว่า “ลูกจ้างชั่วคราว” กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตอบว่า ลูกจ้างชั่วคราวมีสิทธิ์ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว จะต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากเงินงบประมาณตามกรอบอัตรากำลังที่ ก.พ. กำหนด โดยจ้างจากงบบุคลากร หรือที่สำนักงบประมาณกำหนด สำหรับลูกจ้างชั่วคราวในประเทศที่ปฏิบัติงานที่มีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแน่นอน ซึ่งไม่รวมถึงผู้รับจ้างกรณีเอกชนดำเนินงานของส่วนราชการ หรือลูกจ้างชั่วคราว ที่จ้างจากเงินนอกงบประมาณ ซึ่งแจ้งโดยหนังสือที่ กค0406.4/0.16 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555
จากนั้นก็มีหนังสือตอบข้อหารือของ สพฐ. ว่าอัตราจ้างของ สพฐ. 65,172 อัตรา ที่จ้างโดยงบดำเนินงานที่ได้รับจากสำนักงบประมาณ เป็นการจ้างปีต่อปีมีเวลาเริ่มต้น 1 ตุลาคม – 30 กันยายน ของทุกปี ประกอบด้วย ครูอัตราจ้าง นักการภารโรง อัตราจ้างบุคลากรบนสำนักงานเขตพื้นที่ ธุรการ พี่เลี้ยงเด็กพิการ ครูดูแลนักเรียนประจำ Labboy วิทยากรอิสลาม พนักงานรักษาความปลอดภัย กรมบัญชีกลางตอบว่า อัตราจ้าง 65,172 อัตรา ดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่จะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามระเบียบฯ และระบุว่า เงินที่จะเพิ่มประมาณ 3,549 ล้าน จะเป็นเรื่องงบประมาณระยะยาว อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อเสนอแนะให้ สพฐ. นำเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ประเด็นนี้ตอบโดยหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0406.4/25462 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2555
เป็นไงบ้างครับพี่น้อง สำหรับผมนั้น คาดไม่ถึงจริงๆ กับการตอบข้อหารือของกรมบัญชีกลาง เพราะตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงเมษายน 2555 ข่าวกรมบัญชีกลางทยอยออกมาเป็นระยะ ว่าข้าราชกา ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ทั้งในงบประมาณและนอกงบประมาณมีสิทธิ์ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และหนังสือ ว.12 กับ ว.16 ก็ขัดกันในเรื่องอัตราจ้างนอกงบประมาณ ว.12 ระบุว่ามีสิทธิ์ได้รับ แต่ ว.12 ระบุว่าไม่มีสิทธิ์ได้รับ นอกจากนั้นยังมีการอ้างถึงภาระงบประมาณซึ่งผมก็ได้ยินอยู่เนืองๆ ว่า สพฐ. ใช้งบประมาณเพื่อจ้างและตอบแทนบุคลากรมากกว่าหน่วยงานอื่น ก็คนของ สพฐ. เกือบ 500,000 คน จะใช้เงินค่าจ้างน้อยได้อย่างไรครับ อย่างไรก็ตาม น้องๆ อัตราจ้างทั้งหลายก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียวครับ สพฐ. กำลังดำเนินการเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีครับ
ที่มา http://210.246.189.115/ewtadmin/ewt/demo_0850/ewt_news.php?nid=939&filename=index_plan