สพฐ.เปิดสมัครเออร์ลี่รีไทร์ปี'56 ระหว่าง 2-13 ก.ค. คาดครูกว่าหมื่นแห่ลาออก
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการดำเนินมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่รีไทร์ ปีงบประมาณพ.ศ.2556 มีผลออกจากราชการวันที่ 1 ตุลาคมแล้ว การดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการนี้ โดยให้ส่วนราชการที่มีจำนวนข้าราชการสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป กำหนดกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของกลุ่มเป้าหมาย สพฐ.คำนวณข้อมูลแล้วจะมีข้าราชการสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้จำนวน 12,231 คน และจากการสำรวจข้อมูลของเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สนใจจะสมัครเข้าโครงการนี้จำนวน 11,000 คน
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิมของปีที่ผ่านมา โดยจะได้รับเงินก้อน 8-15 เท่าของเงินเดือน รวมเงินประจำตำแหน่ง ส่วนกำหนดปฏิทินการรับสมัครนั้นสพฐ.ได้กำหนดออกมาแล้วดังนี้ วันที่ 2-13 กรกฎาคม เปิดรับสมัครให้ผู้ประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการนี่ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการต่อผู้บังคับบัญชา และวันที่ 23-27 กรกฎาคม ให้ยื่นหนังสือขอระงับการลาออกในกรณีที่เปลี่ยนใจ และในวันที่ 30 กรกฎาคมให้เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาผู้เข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์ โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา
นายอนันต์กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีผู้ที่สอบขึ้นบัญชีผู้อำนวยการสถานศึกษา ร้องเรียนว่าได้ขึ้นบัญชีผู้อำนวยการสถานศึกษากลุ่มประสบการณ์ ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่ได้เลือกนั้น กรณีนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สพฐ.ทำหนังสือถึงเขตพื้นที่การศึกษาที่เปิดสอบ โดยให้ตรวจสอบรายชื่อของผู้ขอขึ้นบัญชีของเขตพื้นที่ของตนเองว่าถูกต้องตามที่ส่งข้อมูลมาให้ สพฐ.ก่อนหน้านี้หรือไม่ จากนั้นให้ยืนยันความถูกต้องกลับมาที่สพฐ. ถ้าพบความไม่ถูกต้อง สพฐ.จะเร่งแก้ไขให้ตรงตามข้อเท็จจริงโดยเร็ว ทั้งนี้ การประกาศรายชื่อผู้ขอขึ้นบัญชีของเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ นั้น สพฐ.เป็นผู้ส่งข้อมูลให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการ จุฬาฯก็จัดทำบัญชีตามที่ สพฐ.แจ้ง แต่การแจ้งของสพฐ.ก็เป็นไปตาม ข้อมูลที่เขตพื้นที่ส่งมา ดังนั้นถ้ามีความคลาด เคลื่อนก็เป็นความเคลื่อนคลาดจากเขตพื้นที่
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ดฟ้องศาลปกครองขอให้ศาลพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่กำหนดว่าหากสละสิทธิการเลือกลงบรรจุในโรงเรียนที่ว่างในบัญชีรวมของสพฐ. จะมีผลให้ต้องสละสิทธิบัญชีของเขตพื้นที่ไปด้วยนั้น เรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้ฟ้องสามารถดำเนินการได้ แต่ สพฐ.ยืนยันว่าการกำหนดให้ผู้สอบขึ้นบัญชีผู้บริหารสถานศึกษาในบัญชีรวมของ สพฐ. มาเลือกโรงเรียนว่างเพื่อเรียกบรรจุเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ. เมื่อผู้สอบขึ้นบัญชีได้สละสิทธิที่จะเลือกโรงเรียนว่างที่มีอยู่ก็ถือว่าเป็นการสละสิทธิการขึ้นบัญชีรวมของสพฐ. มีผลให้บัญชีของเขตพื้นที่ที่ผู้สอบขึ้นบัญชีได้ถูกสละสิทธิไปด้วย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด ส่วนผู้ที่ต้องเลือกลงบรรจุโรงเรียนที่ว่างในเขตพื้นที่ที่ไม่ได้เลือกเพราะโรงเรียนดังกล่าวอยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาคนละภูมิภาคนั้น สพฐ.จะพยายามดูแลโยกย้ายกลับมาในเขตพื้นที่ที่ผู้สอบขึ้นบัญชีได้เลือกไว้ตั้งแต่ต้น แต่ทั้งนี้จะพิจารณาดูแลเป็นรายกรณีไป สำหรับการเลือกลงโรงเรียนว่างในบัญชีรวมของ สพฐ. 724 ลำดับแรก ตามที่มีอัตราว่างอยู่ในปัจจุบันนั้น ขณะนี้ถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว จากนี้ในเดือนตุลาคมจะเป็นการให้เลือกโรงเรียนว่างของผู้ที่สอบขึ้นบัญชีได้ในบัญชีของเขตพื้นที่
ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด ก.ค.ศ.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เลื่อนกำหนดการประกาศผลสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี พ.ศ.2555 ที่มีผู้เข้าสอบจำนวน108,098 คน จากตำแหน่งว่างที่บรรจุได้จำนวน 1,534 อัตรา สอบระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายนที่ผ่านมา เดิมกำหนดประกาศผลภายในวันที่ 30 มิถุนายน เลื่อนเป็นภายในวันที่9 กรกฎาคม และยังเห็นชอบให้สอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งใหม่ในสาขาศิลปศึกษาและวิทยาศาสตร์ทั่วไป เฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ชลบุรี เขต 3 และ สพป.ปทุมธานี เขต2 โดย สพฐ.จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบเป็นผู้เข้าสอบในวันที่ 24 มิถุนายน ภายในวันที่8 กรกฎาคม กำหนดสอบแข่งขันวันที่ 15 กรกฎาคม และประกาศผลสอบแข่งขันวันที่19 กรกฎาคม โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) จะออกข้อสอบใหม่ทั้งหมดไม่มีข้อสอบเก่าแม้แต่ข้อเดียว เพื่อเป็นการป้องกันข้อสอบรั่ว และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสนอกจากนี้ มสด.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาสอบของผู้เข้าสอบทุกรายด้วย
ที่ จ.นครราชสีมา นายอดิศร เนาวนนท์อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และประธาน อ.ก.ค.ศ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 (สพป.นม.7) เปิดเผยว่ากรณีการสอบครูผู้ช่วยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครั้งนี้มีปัญหามาก เกิดจากการรวบอำนาจในการจัดสอบของ สพฐ. และคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ทำให้ส่งผลกระทบทั่วประเทศ การมอบอำนาจให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งออกข้อสอบ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมและประสบการณ์ของหน่วยงาน เพียงแต่อาศัยความคุ้นเคยของผู้บริหารหน่วยงานที่มีบทบาทใน ก.ค.ศ.และสพฐ. เท่านั้น เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก
นายอดิศรกล่าวว่า ที่นางศิริพร กิจเกื้อกูลเลขาธิการ ก.ค.ศ. ระบุว่า การมอบอำนาจให้มรภ.สวนดุสิต ออกข้อสอบครูผู้ช่วย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกข้อสอบผู้บริหารโรงเรียน เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นการอ้างกฎหมายโดยขาดความเข้าใจ การสอบคราวนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยังก่อปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกเป็นการจัดสอบที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีความคุ้มค่า ขัดต่อหลักการกระจายอำนาจตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายออน กาจะโทก อ.ก.ค.ศ. สพป.นม.3 กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เครือข่ายครูหัวก้าวหน้าได้เคลื่อนไหวใต้ดินมาตลอด ส่วนใหญ่เกรงอำนาจมืด จึงได้แต่พูดคุยในวงแคบๆ เมื่อมีการจุดประเด็นขึ้นมา จึงเป็นความหวังที่จะรวมตัวเรียกร้องสิทธิคืนมา นำปัญหาเข้าสู่วาระการประชุมพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรการศึกษา เครือข่ายวิชาการ ที่โรงแรมสีดารีสอร์ต จ.นครนายก วันที่ 7-8 กรกฎาคมนี้โดยคุรุสภาเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือร่วมกับผู้แทนครูแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อขอมติดำเนินการขับเคลื่อนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการกระจายอำนาจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน