คลังเล็งแก้ไขกฎหมาย กบข. เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก แต่ไม่ปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญ คาดนำเรื่องเข้า ครม.ได้ภายในเดือนก.ค.นี้ เพื่อให้ทันประชุมสภาสมัยหน้า...
วันที่ 25 มิ.ย. 2555 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิก กบข. และรายงานผลการดำเนินงานในปี 54 ว่า กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลัง ได้หารือในหลักการกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เพื่อเตรียมนำเสนอแก้ไขกฎหมายของ กบข. โดยเฉพาะเรื่องอัตราผลตอบแทนของสมาชิก ภายหลังจากเกษียณราชการจะได้เงินบำนาญน้อยกว่าข้าราชการที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก กบข. โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ค.นี้ และพร้อมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ ก่อนที่นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาสมัยประชุมหน้า หรือต้นปี 56
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอายุราชการตั้งแต่เริ่มต้นทำงานวันแรกจนถึงเกษียณตั้งแต่ 22 ปี จนถึง 60 ปี จะอยู่ที่ 38 ปี แต่เนื่องจากรัฐบาลประกาศจัดตั้ง กบข. เมื่อปี 40 โดยให้ข้าราชการที่รับราชการก่อนปี 40 สมัครใจเข้า กบข.ได้ ส่วนกรณีที่รับราชการหลังจากปี 40 จะเป็นการสมัครแบบภาคบังคับนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ กรณีที่ข้าราชการสมัครใจเข้าเป็นสมาชิก กบข. จะได้รับอัตราผลตอบที่เป็นรายได้ประจำ (บำนาญ) ต่อเดือนน้อยกว่าเงินข้าราชการที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกประมาณ 50%
“ในหลักการแล้ว กระทรวงการคลังมองภาพใหญ่ โดยเฉพาะฐานะการคลังในอนาคต เพราะหากแก้ไขกฎหมายแล้ว มีภาระทางด้านการคลังมากไปเราคงไม่ทำ เพราะหากแก้ไขสูตรในการคำนวณเงินบำนาญ บางตัวอย่างพบว่า กระทวงการคลังจะมีภาระจากเงินก้อนนี้ 80,000-90,000 ล้านบาทในอีก 30 ปีข้างหน้า”
นายอารีพงศ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสูตรในการคำนวณเงินบำนาญคิดจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ หารด้วย 50 แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งจะทำให้เงินบำนาญที่คิดตามสูตรนี้ ได้รับน้อยกว่าเงินบำนาญเดิมประมาณ 40-50% แต่เนื่องจากระบบการจ่ายเงินของ กบข.ยังมีเงินสะสม เงินสมทบ และรายได้จากการลงทุนบวกรวมกันเป็นเงินก้อนอีกจำนวนหนึ่ง แต่ผู้ร้องเรียนก็ไม่ได้นับเงินก้อนนี้เข้าไปด้วย จึงเหมือนกับว่าข้าราชการสมาชิก กบข.ที่เกษียณมีเงินใช้ในวัยหลักเกษียณไม่มากนัก
สำหรับเนื้อหาของกฎหมายที่ต้องการแก้ไขจริงๆ จะเป็นเรื่องของการนับวันทวีคูณของข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย เมื่อนับรวมกับอายุราชการแล้ว บางท่านมีอายุราชการถึง 45-50 ปี ซึ่งไม่ได้ประโยชน์จากสูตรที่คำนวณเงินบำนาญของ กบข. โดยในหลักการอาจกำหนดเพดานการรับราชการไว้ที่ 38 ปี ส่วนเกินกว่านั้นให้คำนวณเป็นผลตอบที่แยกออกมาเป็นกรณีพิเศษ โดยอาจจะจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือน หรือจะเก็บยอดเงินเพื่อสะสมไว้ใช้ในวัยเกษียณก็ได้ และเรื่องอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ขาดทุน ซึ่งจะแก้ไขโดยใช้เงินงบประมาณสนับสนุนจากเดิมที่มีผลการขาดทุนให้กลับมาเป็นบวก โดยให้อัตราผลตอบแทนจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 54 กบข.มีทรัพย์สินสุทธิ 523,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปี 53 และสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่สมาชิกได้ 16,296 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 15,065 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทน 2.31% ทั้งนี้ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่จัดตั้งกองทุน กบข. สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยสำหรับสมาชิก 6.96% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 25 มิถุนายน 2555