คอลัมน์: สถานีก.ค.ศ.: สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับการประเมินวิทยฐานะ ตาม ว 17/2552 (จบ)
ศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ.
สัปดาห์ที่แล้วได้พูดถึงปัญหาที่พบจากการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ ว17/2552 ซึ่งในการประเมินด้านที่ 1 ด้านที่ 2 ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพบ ปัญหา แต่สำหรับด้านที่ 3 ซึ่งมีการประเมิน 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ผล การพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงาน และส่วนที่ 2 ผลงานทางวิชาการ พบว่าเป็นปัญหาสำหรับผู้เสนอขอในการทำความเข้าใจ และการให้ คะแนนของผู้ประเมิน โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาที่พบจากการประเมิน ส่วนที่ 1 ในสายงานการสอนไปแล้ว สัปดาห์นี้จะนำเสนอปัญหาที่พบในสายงานบริหารสถานศึกษาและส่วนที่ 2 ด้านผลงานทางวิชาการ ดังนี้
การประเมินด้านที่ 3 ส่วนที่ 1 ผลการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงาน
สายงานบริหารสถานศึกษา
- ผู้เสนอขอรายงานระดับผลการประเมินภายนอกของผู้เรียน ทุกมาตรฐาน อยู่ในระดับคุณภาพ 3 แต่ไม่ได้แนบหลักฐานการประเมินของ สมศ. เพื่อประกอบการพิจารณา
- ผู้เสนอขอรายงานผลการทดสอบ O-Net ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ อยู่ในระดับคุณภาพ 3 แต่ไม่ได้แนบหลักฐานผลการทดสอบ O-Net ของสถานศึกษา
จากตัวอย่างข้างต้น ถึงแม้ว่าผู้เสนอขอรายงานผลการพัฒนา คุณภาพการปฏิบัติงานฯ อยู่ในระดับคุณภาพ 3 หรือระดับ 4 แต่ขาด หลักฐาน จึงทำให้ไม่ได้คะแนนในข้อนี้ ฯลฯ
ในด้านที่ 3 ส่วนที่ 1 นี้ คะแนนเต็ม 60 คะแนน ผู้ขอสามารถประเมินตนเองได้ว่ามีผลการประเมินอยู่ในระดับใด โดยประเมินตามตัวบ่งชี้ตาม ที่ ก.ค.ศ.กำหนดไว้ ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ประกาศตัวชี้วัดดังกล่าวของ ทุกสายงาน ให้ได้รับทราบทั่วกันแล้ว ซึ่งผู้เสนอขอรับการประเมินต้องแนบเอกสาร/หลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ประเมินด้วย
ส่วนที่ 2 ผลงานทางวิชาการ ก.ค.ศ.กำหนดให้พิจารณา 2 ส่วน คือ
1) คุณภาพของผลงานทางวิชาการโดยพิจารณาจาก เนื้อหาสาระต้องมีความสมบูรณ์ ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การพิมพ์และการจัดทำรูปเล่ม และ
2) ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ โดยพิจารณาจากประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา/หน่วยงานทางการศึกษา ชุมชน และประโยชน์ ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและการเผยแพร่ในวงวิชาชีพ ยกตัวอย่างเช่น การเสนอผลงานวิจัย เนื้อหาที่นำเสนอจะต้องมีความถูกต้อง การกำหนดกลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่าง วัตถุประสงค์การวิจัย การ ดำเนินการวิจัยถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย งานวิจัยต้องแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการจัดทำรูปเล่มจะต้องมีความประณีต การพิมพ์ถูกต้องตามหลักการพิมพ์งานวิจัย รวมทั้งต้องตรวจสอบการ พิมพ์ให้ถูกต้อง การเว้นวรรคตอน รวมถึงงานวิจัยดังกล่าวจะต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา/ หน่วยงานทางการศึกษา ชุมชน และความก้าวหน้าในวิชาชีพ ด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน มีความก้าวหน้า ในวิชาชีพ แต่ในขณะเดียวกันทุกท่านต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการ ตาม ว 17/2552 และมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานในหน้าที่ของตนจนสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ/วิชาชีพแล้วนำผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาเสนอ ขอเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนยื่น คำขอฯ ข้าราชการครูสามารถประเมินตนเองตามตัวชี้วัดในคู่มือการประเมินฯ ตามที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดไว้แล้ว ขอให้ข้าราชการครูฯทุกท่านโชคดี มีความก้าวหน้าในวิชาชีพต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน