ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนการตรวจราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งเป็นการดำเนินตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๒๖ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๖ ที่กำหนดให้มีระบบการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับหลักการศึกษา แนวทางการจัดการศึกษา และคุณภาพมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๒๐ ที่ได้กำหนดว่า ให้กระทรวงศึกษาธิการมีผู้ตรวจราชการของกระทรวง เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจราชการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ติดตาม และประเมินผลระดับนโยบาย เพื่อนิเทศให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนา ซึ่ง ศธ.ได้จัดทำแผนการตรวจราชการของ ศธ.โดยถือแนวปฏิบัติแห่งระเบียบ ๒ ฉบับ ได้แก่
๑) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจราชการ พ.ศ.๒๕๔๘ ข้อ ๘ การตรวจราชการตามระเบียบนี้ ให้ดำเนินการตามแผนการตรวจราชการประจำปี หรือตามที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ให้จัดทำแผนการตรวจราชการ ตามรอบปีงบประมาณ โดยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐและผู้ตรวจราชการร่วมกันจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมของปีงบประมาณนั้น
๒) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการตรวจ ติดตาม ประเมินผล และนิเทศการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๙ หมวด ๒ ข้อ ๙(๑) กำหนดให้คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย เกณฑ์มาตรฐาน ระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและแผนการตรวจราชการประจำปี แผนการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
สาระสำคัญของแผนการตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ ประกอบด้วยเนื้อหาสาระสำคัญ ได้แก่
การตรวจราชการกรณีปกติ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู เยียวยาสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัย โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ ได้แก่ ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) และศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน (กศน.) และโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการ Internet ตำบล และ Internet หมู่บ้าน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน)
การตรวจราชการแบบบูรณาการ เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามนโยบายของรัฐบาล ร่วมกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงอื่น ในส่วนของ ศธ. ได้แก่ โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน โครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมโลก และโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา
การตรวจราชการกรณีพิเศษ เช่น การสืบสวน สอบสวน ข้อเท็จจริง ปัญหาการร้องเรียน ร้องทุกข์ กล่าวโทษของประชาชนอันเกิดจากการดำเนินงานของหน่วยงาน/สถานศึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ การตรวจตามวาระแห่งชาติ เสพติด อุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นภัยและมีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา นักเรียนและนักศึกษา รวมทั้งกรณีได้รับมอบหมายอื่น เช่น การติดตามนโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ ใน ๒๖ นโยบาย ได้แก่ (หมายเหตุ อาจจะมีการปรับเพิ่มนโยบายที่ ๒๗ เกี่ยวข้องกับสุภาพบุรุษอาชีวะ)
๑. แท็บเล็ตสำหรับนักเรียน ป.๑ และ ม.๑ ทุกคน
๒. เรียนจบ ม.๖ ภายใน ๘ เดือน
๓. กองทุนตั้งตัวได้
๔. ๑ อำเภอ ๑ ทุน
๕. พูดภาษาอังกฤษได้ พร้อมเข้าสู่ประชาคม ASEAN
๖. ปรับเลื่อนวิทยฐานะโยกย้ายครูด้วยความเป็นธรรม
๗. เรียนดีอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่อนุบาลจนจบ ม.๖
๘. กระทรวงศึกษาธิการไทยใสสะอาด
๙. อัจฉริยะสร้างได้
๑๐. สร้างพลังครู
๑๑. เลิกหลักสูตรท่องจำ
๑๒. Internet ตำบล และหมู่บ้าน
๑๓. คูปองสร้างเสริมอัจฉริยะ
๑๔. สร้างผู้นำแห่งอาเซียน (Becoming ASEAN Leaders Scholarship)
๑๕. ทุนการศึกษาเพื่ออนาคต (กรอ.)
๑๖. ครูมืออาชีพ
๑๗. โรงเรียนร่วมพัฒนา
๑๘. การศึกษาช่วยดับไฟใต้
๑๙. เทียบโอนประสบการณ์สายอาชีพ จบ ปวช.ได้ใน ๘ เดือน
๒๐. Fix it Center ศูนย์ซ่อมสร้างประจำชุมชน
๒๑. พัฒนาศูนย์อบรมอาชีวศึกษาในสถานศึกษา
๒๒. จัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาเพื่อความเป็นเลิศในการเรียนสายอาชีพ
๒๓. ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน
๒๔. โรงเรียนในโรงงาน โรงงานในโรงเรียน
๒๕. สอบ O-Net ป. ๖ ม.๓ ม.๖ ทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
๒๖. ปฏิบัติธรรมนำการศึกษา แก้ปัญหายาเสพติด ลดทุจริตคอรัปชัน
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
รมว.ศธ.ได้ฝากให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และที่ประชุมดำเนินการ ดังนี้
- หาแนวทางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์นโยบายดังกล่าว ให้ผู้บริหาร ศธ. ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ได้รับทราบถึงนโยบาย สามารถจดจำและเข้าใจหลักการอย่างง่ายของนโยบายว่า นโยบายข้อใด ต้องทำอย่างไร เพื่ออะไร เพื่อให้การขับเคลื่อนการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในอนาคตอันใกล้อาจจะเพิ่มนโยบายข้อที่ ๒๗ เกี่ยวกับการเรียนวิชาสุภาพบุรุษของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งอาจจะใช้คำว่า สุภาพบุรุษอาชีวะ คนดีของสังคม เป็นต้น
- ให้ปรับปรุงนโยบาย เช่น นโยบายข้อที่ ๒ เรียน ม.๖ จบทุกคนภายใน ๘ เดือน ให้เปลี่ยนเป็น เรียนจบ ม.๖ ภายใน ๘ เดือน โดยให้ตัดคำว่า ทุกคน ออก เพราะในทางปฏิบัติอาจจะยังไม่สามารถดำเนินให้จบ ม.๖ ได้ทุกคน เนื่องจากกฎหมายและระเบียบต่างๆ
- ให้ปรับปรุงระบบการแสดงผลการประเมินการตรวจราชการให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทอลมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำผลการตรวจ ติดตาม และประเมินผลมาใช้ประกอบในเชิงนโยบายได้อย่างรวดเร็ว และสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/jun/159.html