Advertisement
สำหรับประวัติของปาท่องโก๋นั้น ย้อยไปถึงประวัติศาสตร์จีนท่านหนึ่งคือ งักฮุย
งักฮุย* หรือชื่อเรียกในภาษาจีนกลางคือ เย่ว์เฟย (岳飞; ค.ศ.1103-1142) เกิดในยุคปลายของราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) ที่มณฑลเหอหนาน เมื่อครั้งยังเล็ก ณ บ้านเกิดของเขาเกิดอุทกภัยใหญ่จากการแตกของเขื่อนกั้นแม่น้ำเหลือง (黄河) มารดาของงักฮุยต้องอุ้มบุตรชายไว้ในอ้อมกอด อาศัยซุกตัวอยู่ในโอ่งลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาชีวิตให้รอด
เมื่อล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม ในภาวะที่ประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตเนื่องจากฮ่องเต้สองพระองค์ของราชวงศ์ซ่งเหนือ คือ ซ่งฮุยจง (宋微宗) และซ่งชินจง (宋钦宗) ถูกพวกจิน (金; ค.ศ.1115-1234) จับตัวไปเป็นเชลยศึก จนในที่สุดนำมาสู่จุดจบของราชวงศ์ซ่งเหนือ งักฮุยเมื่อพบเห็นกับเหตุการณ์เช่นนี้จึงตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่าจะต้องกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียและชาติกลับคืนมาให้ได้
ความตั้งใจนี้เมื่อประกอบกับการสนับสนุนมารดา เขาจึงสมัครเข้าเป็นทหารรับใช้ให้กับราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋; ค.ศ.1127-1279) ที่ขณะนั้นองค์ฮ่องเต้คือ ซ่งเกาจง (宋高宗) ได้ย้ายเมืองหลวงหนีมาทางใต้ จากเปี้ยนเหลียง (汴梁; ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง) มาอยู่ที่หลินอัน (临安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว)
โดยก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า
尽忠报国
จิ้นจงเป้ากั๋ว
รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ
เมื่อเข้ารับราชการทหาร งักฮุยที่พกความมุ่งมั่นไว้เต็มเปี่ยมก็แสดงความกล้าหาญและสามารถรบชนะสังหารข้าศึกไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งผลงานไปเข้าตาแม่ทัพนาม จงเจ๋อ (宗泽) ต่อมาแม่ทัพจงเจ๋อก็ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำศึกสงครามนานาประการให้กับงักฮุยโดยหมดสิ้น โดยหวังว่างักฮุยจะเป็นกำลังสำคัญในการกู้ชาติต่อไป
หลังจากที่แม่ทัพจงเจ๋อเสียชีวิต งักฮุยก็ได้เป็นผู้สืบทอดในตำแหน่งแม่ทัพต่อตามคาด และสร้างผลงานจนได้ดำรงแม่ทัพใหญ่ในตำแหน่งเจี๋ยตู้สื่อ (节度使) เมื่ออายุเพียง 32 ปีเท่านั้น แต่ทั้งนี้งักฮุยก็มิได้แสดงอาการยโสโอหังต่อตำแหน่งใหญ่ของตัวเองแต่อย่างใด สังเกตได้จากที่ครั้งหนึ่งฮ่องเต้เคยออกปากว่าจะสร้างจวนหลังใหม่ให้ งักฮุยกลับตอบปฏิเสธโดยกล่าวกับฮ่องเต้ไปว่า
"ในเมื่อยังกวาดล้างศัตรูได้ไม่สิ้นซาก กระหม่อมจะมีมาคำนึงถึงเรื่องบ้านของตัวเองได้อย่างไร?"
เมื่อก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ ชื่อเสียงของงักฮุยก็ยิ่งขจรขจาย โดยเฉพาะในแง่ของความเข้มงวดและระเบียบวินัยของกองทัพ มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ฝึกซ้อมการรบอยู่นั้น เมื่อบุตรชาย (เย่ว์หยุน:岳云) ของงักฮุยบังคับม้าศึกควบขึ้นเนินลาดแล้วเกิดบังคับม้าไม่อยู่จนทั้งคนทั้งม้าเสียหลักล้มลง ด้านงักฮุยเมื่อทราบดังนั้นก็มิได้แสดงความอาทรต่อบุตรของตัวเองเหนือกว่าพลทหารนายอื่นแต่อย่างใด ออกคำสั่งให้ดำเนินการลงโทษบุตรชายของตนไปตามกฎระเบียบ
มากกว่านั้น สิ่งที่ทำให้กองทัพของงักฮุยครองใจชาวบ้านมากไปกว่านั้นก็คือ "ความซื่อสัตย์" และ "ซื่อตรง"
เมื่อพบว่าพลทหารขอเชือกปอจากชาวบ้านหนึ่งเส้นเพื่อนำมามัดไม้ฟืน งักฮุยก็สั่งให้ลงโทษพลทหารผู้นั้นไปตามระเบียบ ขณะที่เมื่อกองทัพของงักฮุยผ่านไปยังหมู่บ้านใดก็จะตั้งค่ายนอนกันริมทาง แม้ชาวบ้านเชิญให้เหล่าทหารเข้าไปพักผ่อนในบ้านอย่างไรก็ไม่ยินยอม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วว่าในกองทัพของงักฮุยมีคำขวัญที่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดประการหนึ่ง คือ
"แม้ต้องหนาวตายก็ไม่ขอเบียดเบียนบ้านชาวประชา แม้ต้องอดตายก็จะไม่ปฏิบัติตัวเยี่ยงโจร-ขโมย"
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างงักฮุยกับเหล่าทหารในกองทัพก็เป็นไปด้วยความแนบแน่นยิ่ง โดยเมื่อมีพลทหารคนใดป่วยงักฮุยก็จะไปเยี่ยมด้วยตัวเอง พร้อมส่งคนไปให้การดูแลครอบครัวของพลทหารผู้นั้น ขณะที่หากเบื้องบนตบรางวัลอะไรให้มา งักฮุยก็จะจัดสรรแบ่งปันให้พลทหารของตนอย่างเท่าเทียมโดยที่ไม่คำนึงว่าจะเหลือตกถึงตนเองหรือไม่
ด้วยเหตุฉะนี้ กองทัพของงักฮุยจึงมีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง และเมื่อประกอบกับความรู้ความสามารถในด้านสงครามของงักฮุยแล้วก็ทำให้ในการรับทุกครั้งกับชนเผ่าจินนั้น กองทัพงักฮุยได้รับชัยชนะอยู่เสมอๆ จนพวกจินนั้นเกิดความเกรงกลัวอย่างมาก จนกระทั่งมีคำกล่าวกันว่า "โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่ง"
ทัพงักฮุยประสบชัยชนะกรีฑาทัพขึ้นภาคเหนือเพื่อยึดดินแดนคืนได้มากมาย บุกจนกระทั่งตั้งทัพอยู่ห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น**
เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฉินฮุ่ย (秦桧) ขุนนางกังฉิน (ว่ากันว่าฉินฮุ่ยและภรรยาแซ่หวังเคยถูกกองทัพของจินจับตัวเป็นเชลยศึก แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยตัวกลับมายังซ่งโดยให้สัญญาว่าจะเป็นสายลับให้กับทางจิน***) ผู้ซึ่งเชลียร์ฮ่องเต้ซ่งเกาจงจนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงกราบทูลต่อองค์ฮ่องเต้ว่าทัพของงักฮุยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสงบศึกกับเผ่าจิน
ด้านฮ่องเต้ซ่งเกาจงก็เชื่อในคำของฉินฮุ่ย และออกโองการบัญชาให้งักฮุยถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ทางฝั่งงักฮุยแม้จะทักท้วงและออกอาการดื้อดึงเช่นไรก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระบัญชาของฮ่องเต้ส่งมาเป็นฉบับที่ 12 งักฮุยจึงถอดใจ พร้อมกับทอดถอนใจรำพึงกับตัวเองด้วยความช้ำใจอย่างสุดแสนว่า ความพากเพียร 10 ปีของตนกลับต้องกลายเป็นเพียงเถ้าธุลีในพริบตา
เมื่องักฮุยปฏิบัติตามพระบัญชาถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ฉินฮุ่ยก็ใส่ร้ายว่างักฮุยนั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดการณ์ใหญ่จะก่อกบฎล้มล้างราชสำนัก งักฮุยได้ฟังดังนั้นก็ไม่โต้ตอบอะไรด้วยคำกล่าวอะไร เพียงแต่คลายชุดท่อนบนของตนออก เผยให้ฉินฮุ่ยเห็นถึงคำว่า '尽忠报国' อักษรสี่ตัวที่มารดาสลักไว้ด้านหลัง ขุนนางกังฉินเมื่อเห็นดังนั้นก็ชะงัก เอ่ยปากอะไรไม่ออกแม้แต่คำเดียว
อย่างไรก็ตาม ฉินฮุ่ยก็ยังไม่ยอมลดละความพยายามในการป้ายสีงักฮุยต่างๆ นานา แม้จะตรวจไม่พบความผิดใดๆ ก็ตาม แต่ในที่สุดฉินฮุ่ยก็ปั้นเรื่องจนทำให้งักฮุยต้องถูกโทษประหารจนได้ โดยเมื่อมีขุนนางฝ่ายงักฮุยคนอื่นๆ ทักท้วง และตั้งคำถามฉินฮุ่ยว่ามีหลักฐานในการกล่าวโทษงักฮุยหรือไม่ ฉินฮุ่ยก็ตอบว่า "อาจจะมีก็ได้ (莫须有)" คำตอบของฉินฮุ่ยที่ว่า "อาจจะมีก็ได้" นี้ ภายหลังกลายเป็นศัพท์ที่ถูกจารึกไว้ต่อๆ มาว่ามีความหมาย คือการให้ร้ายผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน
ทั้งนี้ในวันที่งักฮุยถูกประหารชีวิต ก็มีพลเมืองดีที่รู้เรื่องราวและเคารพรักในตัวงักฮุยนำศพของเขามาทำพิธีฝังศพ โดยเวลาต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายหลุมฝังศพของงักฮุยมาตั้งไว้ริมทะเลสาบซีหู ณ เมืองหางโจว
อย่างไรก็ตาม เมื่อแผนการขายชาติ 'นายกรัฐมนตรีกังฉิน' ถูกเล่ากันจากปากต่อปากราษฎรไปจนทั่วเมืองหลวง เพื่อระบายความแค้นใจที่มีต่อฉินฮุ่ย ภรรยาและพรรคพวกที่ให้ร้ายงักฮุย ขุนศึกผู้รักชาติจนเสียชีวิต ราษฎรจึงนำแป้งสองชิ้นมาบีบติดกันแล้วทอดรับประทานเพื่อระบายความแค้น โดยเปรียบเอาว่าแป้งชิ้นหนึ่งคือฉินฮุ่ย ส่วนอีกชิ้นหนึ่งก็คือ ภรรยาแซ่หวัง
แป้งทอดที่ว่าก็คือ ปาท่องโก๋**** หรือที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเรียกกันว่า 'อิ่วจาก้วย' ส่วนในภาษาจีนกลางนั้นเขาอ่านว่า โหยวจ๋าฮุ่ย (油炸桧) แปลว่า น้ำมันทอดฉินฮุ่ย ซึ่งก็เป็นการนำชื่อของ ฉินฮุ่ย ขุนนางกังฉินผู้ขายชาติมาตั้งเป็นชื่ออาหาร เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังจดจำถึงผู้ทรยศต่อประเทศชาติ (ส่วนทางประเทศจีนภาคเหนือเขารับประทานปาท่องโก๋กันเป็นชิ้นใหญ่ยาว เรียกว่า โหยวเถียว (油条))
สำหรับหลุมศพของงักฮุย วีรบุรุษผู้รักชาติ ปัจจุบันก็ยังตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก ริมทะเลสาบตะวันตก (西湖) ณ เมืองหางโจว โดยคนในรุ่นต่อๆ มาได้มีการปรับปรุงยกระดับให้มีฐานะเป็นศาลเจ้า ซึ่งก็เปรียบเสมือนว่ายกย่องให้งักฮุยกลายเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์องค์หนึ่งนั่นเอง
ณ วันนี้หากมีโอกาสได้เข้าไปเยือนศาลเจ้างักฮุยริมทะเลสาบซีหู ติดกับโรงแรมแชงกรีลา ก็จะพบกับรูปปั้นสูงตระหง่านของงักฮุย โดยด้านบนรูปปั้นเป็นลายมือของงักฮุยตวัดพู่กันอย่างมีพลังเป็นตัวอักษร 4 ตัวอ่านว่า
"เอาแผ่นดินของข้าคืนมา (还我河山)"
ขณะที่รูปปั้นของงักฮุย แสดงความองอาจ น่าเกรงขาม และเป็นที่ชื่นชมของบุคคลที่มาเยี่ยมเยือน ข้างหน้าหลุมศพของงักฮุยในเวลาต่อมาประชาชนก็ได้หล่อรูปโลหะขึ้นมา 4 รูป ประกอบไปด้วย คนขายชาติทั้ง 4 คือ ฉินฮุ่ย ภรรยาแซ่หวัง ม่อฉีเซี่ย (万俟卨) และ จางจุ้น (张俊) นั่งคุกเข่าเอามือไพล่หลังอยู่หน้าหลุมศพ ไว้เป็นอุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลัง
แหล่งข้อมูล
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?
Advertisement
เปิดอ่าน 41,437 ครั้ง เปิดอ่าน 14,829 ครั้ง เปิดอ่าน 15,035 ครั้ง เปิดอ่าน 8,890 ครั้ง เปิดอ่าน 13,743 ครั้ง เปิดอ่าน 24,508 ครั้ง เปิดอ่าน 10,624 ครั้ง เปิดอ่าน 9,606 ครั้ง เปิดอ่าน 21,249 ครั้ง เปิดอ่าน 13,989 ครั้ง เปิดอ่าน 16,983 ครั้ง เปิดอ่าน 38,039 ครั้ง เปิดอ่าน 40,850 ครั้ง เปิดอ่าน 14,020 ครั้ง เปิดอ่าน 16,742 ครั้ง เปิดอ่าน 10,622 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 9,697 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 45,840 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,729 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 15,338 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 10,318 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 23,598 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 9,338 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 12,347 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,382 ครั้ง |
เปิดอ่าน 80,705 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,724 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,096 ครั้ง |
|
|