ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมทางไกล (Video Conference) กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ๒๒๕ เขตทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. โดยมี ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาทุกเต และคณะผู้บริหาร สพฐ.ร่วมประชุมทางไกล โดยมีสาระสำคัญ ๗ เรื่อง สรุปดังนี้
๑. คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต (Tablet) ใช้ชื่อว่า “คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตสำหรับนักเรียน ป.๑ และ ม.๑ ทุกคน” เป็นโครงการที่จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีทางการศึกษา ทำให้การเรียนการสอนมีความทันสมัยและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ลงนามจัดซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต จำนวน ๘๐๐,๐๐๐ เครื่องแล้ว เมื่อเครื่องมาถึง ศธ. ก็จะทำการนำซอฟต์แวร์ใส่ลงไปในเครื่อง จัดใส่กล่องเพื่อกระจายเครื่องไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป และจัดหางบประมาณมาติดตั้งสัญญาณ Wi-Fi กระจายในโรงเรียนต่างๆ โดยคาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถส่งเครื่องถึงนักเรียนชั้น ป.๑ ส่วนนักเรียนชั้น ม.๑ จะได้รับแจกในภาคเรียนที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๕
๒. การปฏิรูปการศึกษา ที่เน้น Accountability และ Transparency ศธ.จะนำ Accountability ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบ และ Transparency หมายถึงความโปร่งใส มาเป็นตัวนำในการจัดการศึกษา เพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นทั้งระบบ เพื่อให้เกิดเป็นจิ๊กซอว์ต่อกันได้อย่างสอดคล้องกัน ทั้ง “ความรับผิดชอบ” ซึ่งจะดูจากผลการสอบ O-Net ของนักเรียนเป็นผลงานสะท้อนการสอนของครู และผลงานของครูก็จะสะท้อนการบริหารของผู้อำนวยการโรงเรียนและของโรงเรียนตามลำดับ ส่วน “ความโปร่งใส” เนื่องจากกฎหมายของ สพฐ.ต้องการกระจายการบริหารงานบุคคลลงไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาอย่างเต็มที่ จึงต้องคำนึงถึงความโปร่งใสในการให้ครูเข้าสู่ระบบทุกระดับ ต้องได้รับการเลื่อนขั้น และได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรม โปร่งใส ซึ่งจะส่งผลให้ครูมีกำลังใจในการสอนต่อไป ถ้าทำได้เช่นนี้ Value Judgment ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และขอเน้นย้ำว่าควรจะลดการใช้ดุลยพินิจ โดยให้เปลี่ยนเป็นการเน้นที่ผลงานให้มากขึ้น เพื่อให้การศึกษาเกิดความโปร่งใสอย่างเป็นรูปธรรม
๓. โครงการครูคืนถิ่น จากเดิมที่สามารถย้ายได้เพียง ๑๙% ของจำนวนผู้ยื่นคำร้องทั้งหมด แต่ในปีนี้มีผู้ยื่นคำร้องถึง ๒๐,๗๑๗ คน ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาให้ย้ายได้จำนวน ๑๐,๑๗๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๓๔ จึงขอฝากว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่สามารถย้ายโดยนำอัตราไปด้วยถึง ๘,๐๐๐ คน เพื่อให้ครูได้มีกำลังใจในการทำงาน ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว มีความอบอุ่นในชีวิตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้จัดทำเป็นประจำทุกปี หลังจากนี้การย้ายต่างๆ ก็จะต้องเป็นการย้ายในระบบปกติ สำหรับข้อกังวลของโรงเรียนหรือครูเกี่ยวกับการหาครูมาสอนในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ในโรงเรียนที่ขาดอัตราจำนวนมาก โรงเรียนสามารถจ้างครูได้เอง โดยจ้างในรูปแบบของพนักงานมหาวิทยาลัย แต่จะไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ และอย่าได้กังวลว่าจะรับคนไม่ดีเข้ามาทำงาน เพราะคนที่ไม่ดีเมื่อเข้ามาทำงานจริง ก็จะไม่สามารถอยู่ได้ ซึ่ง สพฐ.ได้เตรียมแผนรองรับผลกระทบจากการดำเนินงานตามโครงการครูคืนถิ่น ดังนี้
•มาตรการเร่งด่วน (ด้านอัตรากำลัง) จัดสรรอัตราข้าราชการครูที่ว่างจากผลการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ จำนวน ๑,๘๓๑ อัตรา และขอใช้อัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ โดยจัดสรรทดแทนและเพิ่มเติมให้แก่สถานศึกษาที่ครูได้รับการพิจารณาย้ายออก ๒ กรณี คือ ๑) สถานศึกษาที่ขาดครูขั้นวิกฤต ตั้งแต่ร้อยละ ๓๐ ขึ้นไป และ ๒) สถานศึกษาขนาดเล็กที่ขาดครูและมีครูไม่ครบชั้น รวมทั้งขอให้ สพท.เร่งสำรวจสภาพปัจจุบัน ปัญหา และผลกระทบจากการย้ายตามโครงการครูคืนถิ่น เพื่อให้คำปรึกษา ชี้แจง และทำความเข้าใจแก่สถานศึกษา
•มาตรการระยะกลาง (ด้านอัตรากำลัง) สพฐ.จะพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการครูเกษียณอายุราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ จัดทำแผนเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการครู รวมทั้งเกลี่ยอัตราพนักงานราชการ (ตำแหน่งครูผู้สอน) กรณีที่ว่างลงในสถานศึกษาที่มีอัตรากำลังครูครบเกณฑ์หรือเกินจากเกณฑ์ ก.ค.ศ.กำหนด และจะส่งเสริม สนับสนุน ทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากร ขวัญและกำลังใจแก่สถานศึกษาที่ขาดครูเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ สพฐ.จะจัดงาน “โครงการครูคืนถิ่น” ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ โดยเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีเปิด พร้อมถ่ายทอดสดระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๐.๔๐ น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีจะชมการแสดง เยี่ยมชมนิทรรศการ “ครูคืนถิ่น ครูแห่งคุณภาพ” และมอบของที่ระลึกแก่ตัวแทนครอบครัวครูคืนถิ่นด้วย
๔. การสรรหารองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สพฐ.ได้ประกาศรับสมัครสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งมีผู้สมัครทั้งสิ้น ๑๖,๕๒๓ คน เป็นผู้มีสิทธิ์ จำนวน ๑๖,๑๐๒ คน โดยมีกำหนดสอบข้อเขียนในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ สนามสอบโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๓๓ สนามสอบ และจะประกาศผลภายในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ในการนี้ มีตำแหน่งว่างที่จะเรียกมารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง ๑,๐๑๘ ตำแหน่ง ประกอบด้วย
- ผอ.รร.ประถม จำนวน ๑๙๘ ตำแหน่ง
- รอง ผอ.รร.ประถม จำนวน ๔๓๗ ตำแหน่ง
- ผอ.รร.มัธยม จำนวน ๒๐ ตำแหน่ง
- รอง ผอ.รร.มัธยม จำนวน ๓๑๐ ตำแหน่ง
- ผอ.รร.สศศ. จำนวน ๑ ตำแหน่ง
- รอง ผอ.รร.สศศ. จำนวน ๕๒ ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีที่จะมารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งในครั้งแรก ๑,๐๑๘ คนนี้ ก.ค.ศ.กำหนดให้มีการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดให้เรียบร้อยก่อน จึงจะกำหนดวันให้มารายงานตัวเพื่อเลือกโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง
๕. การสอบบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วย การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี ๒๕๕๕ มีกำหนดการสอบแข่งขัน ดังนี้
- ประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน วันที่ ๑-๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
- รับสมัครสอบแข่งขัน วันที่ ๘-๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๕
- สอบภาค ก. วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๕
- สอบภาค ข. วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕
- ประกาศผลการสอบแข่งขัน ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕
แนวปฏิบัติในการดำเนินการสอบแข่งขัน
- สพท.ที่ดำเนินการสอบแข่งขันฯ ต้องไม่มีผู้สอบแข่งขันได้ในกลุ่มวิชาหรือทางหรือสาขาวิชาเอกเดียวกันขึ้นบัญชีรอการบรรจุ
- ผู้สมัครสอบแข่งขันจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ.๒๕๔๗ คือต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามระเบียบของคุรุสภาว่าด้วยการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมด้วย
- หากมีปัญหาเกี่ยวกับคุณวุฒิ สาขาวิชาเอกที่ใช้ในการสมัครสอบ ขอให้หารือกับ ก.ค.ศ.โดยตรง และรายงานให้ สพฐ.ทราบ
- สพฐ.จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ สพท.เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสอบแข่งขันเท่าที่จำเป็นและประหยัด
- สพท.ที่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ และบัญชี ปี พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ต่อไป จนครบอายุการขึ้นบัญชี
- ให้ สพท.รายงานข้อมูลการเรียกบรรจุให้ สพฐ.ทราบทุกครั้ง ที่มีการเรียกบรรจุเพิ่มเติม พร้อมทั้งประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทางเว็บไซต์ของ สพท.
๖. โครงการครูมืออาชีพ จะรับสมัครเพื่อสอบแข่งขันทั่วประเทศ เป็นการสอบล่วงหน้า ๑ ปี จำนวน ๓๐% ของจำนวนที่รับทั้งหมด โดยผู้สมัครจะต้องเป็นนักศึกษาปี ๔ ทุกคณะต่างๆ ที่สนใจจะมาเป็นครู โดยจะต้องเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ป.บัณฑิต) เพิ่มเติม ทั้งนี้จะต้องมีการระบุเขตที่จะบรรจุ เพื่อลดการย้ายกลับคืนถิ่นในอนาคต และหลังจากจบการศึกษาพร้อมทั้งได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว ก็จะได้รับการบรรจุทันที อีก ๔๐% จะเป็นการสอบแข่งขันทั่วไป สำหรับผู้ที่สนใจจะมาเรียนครูและมีเกรดเฉลี่ยไม่ถึง ๓.๐๐ ทั้งนี้ในอนาคตครูที่สอนอยู่กว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน จะได้ปรับเป็นครูมืออาชีพทั้งหมด โดยได้มอบหมายให้ สพฐ. และ ก.ค.ศ. คิดหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อให้ครูเหล่านี้ได้ประกาศนียบัตรครูมืออาชีพ และให้เป็นคะแนนผลงานในการเลื่อนขั้นและเลื่อนวิทยฐานะด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะเชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์การสอนเด็ก เพื่อลด/ยกเลิกการทำวิจัยลง
๗. วิทยฐานะครูและผู้บริหาร สพฐ.มีนโยบายที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ ตามนโยบายของ ศธ.โดยใช้หลักเกณฑ์การตัดสินที่เป็นปรนัย เน้นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับผู้เรียน ซึ่งได้ยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ เพื่อเตรียมเสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณา ดังนี้
•ยกร่างหลักเกณฑ์ฯ ด้วยข้อตกลงการปฏิบัติงาน (Performance Agreement) สายงานการบริหารการศึกษาและสายงานบริหารสถานศึกษา โดยการประเมิน ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านจรรยาบรรณวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา/ผู้บริหารสถานศึกษา ๒) ด้านประสบการณ์วิชาชีพผู้บริหารการศึกษา/ผู้บริหารสถานศึกษา ๓) ด้านผลการปฏิบัติงานตามข้อตกลงการปฏิบัติงาน โดยใช้กระบวนการ P4 ได้แก่ ๑) Performance Agreement ประเมินสาระสำคัญและความเป็นไปได้แล้วจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงาน ๒) Per-assessment ประเมินก่อนการปฏิบัติงาน ๓) Performing ประเมินระหว่างการปฏิบัติงาน และ ๔) Post-assessment ประเมินหลังการปฏิบัติงาน
•ยกร่างหลักเกณฑ์ฯ ด้วยการประเมินสมรรถนะ (TPK MODEL) สายงานการสอนและสายงานนิเทศการศึกษา ดังนี้ การประเมิน ๒ ด้าน คือ ๑) ทดสอบสมรรถนะ และ ๒) ผลการปฏิบัติงานที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ ส่วนที่ ๑ ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ประกอบด้วย ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-Net) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน และส่วนที่ ๒ รายงานผลการปฏิบัติงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในลักษณะที่เป็นสาระนิพนธ์ ไม่เกิน ๒๐ หน้า
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/may/127.html