Advertisement
❝ กวช. ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ ❞
|
|
|
http://www.culture.go.th/www/th/news_detail.php?id=231
กวช. ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ได้ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๑ แล้ว ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่
๑. รองศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก (จิตรกรรม)
สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่
๒. นายอดุล จันทรศักดิ์ สาขาวรรณศิลป์
สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่
๓. หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)
๔. นายประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว (นาฏศิลป์-โขน)
๕. พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง (ดนตรีสากล)
๖. นายศิริ วิชเวช (คีตศิลป์)
๗. นายกรีพงศ์ เทียมเศวต หรือ สรพงศ์ ชาตรี (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาตินี้ นายปรีชา กันธิยะ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประกอบด้วย ๓ หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้
๑. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ มี ๖ ประการ ได้แก่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน / เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น /เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้น /เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอดหรือเป็นต้นแบบศิลปะแขนงนั้น/ เป็นผู้มีคุณธรรม และมีความรักในงานศิลปะของตน และเป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
๒. คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ เช่น ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ค่านิยม จริยธรรม อัตลักษณ์อันหลากหลายของท้องถิ่นและของชาติ
๓. การเผยแพร่และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย ผลงานได้รับการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด /ผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ
โดยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะคัดเลือกใน ๓ สาขา ได้แก่ ๑.สาขาทัศนศิลป์ ๒.สาขาวรรณศิลป์ ๓.สาขาศิลปะการแสดง
นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๘ จนปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๑) มีศิลปินสาขาต่างๆที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม ๑๘๗ คน เสียชีวิต ๗๒ คน สำหรับผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับเงินตอบแทนประจำตำแหน่ง เดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานศพ ๑๕,๐๐๐ บาท พร้อมค่าจัดทำหนังสือที่ระลึก ๑๒๐,๐๐๐ บาท
อนึ่ง ศิลปินแห่งชาติปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่ได้รับการคัดเลือก จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (แทนพระองค์ฯ) ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ และจะมีการจัดงานแสดงความยินดีพร้อมนิทรรศการเชิดชูเกียรติฯ ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ โดยเหล่าศิลปินแห่งชาติทั้งในอดีตและปัจจุบัน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ประวัติย่อของศิลปินแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑
สาขาทัศนศิลป์
รองศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาศิลปะจากโรงเรียนช่างศิลป์ ได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ (ภาพพิมพ์) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาศิลปมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกษียณอายุในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ ๙ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ท่านเป็นทั้งศิลปิน และอาจารย์สอนศิลปะ ปัจจุบันแม้เกษียณอายุแล้วยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา ๔๐ ปี เป็นผู้มีความเป็นเลิศใน “ศาสตร์” และ “ศิลปะ” สามารถรู้ทันความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการในวงการศิลปะ “ไม่ตกยุค” หรือ “พ้นยุค” มีความมุ่งมั่นศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ และพัฒนาความสามารถอยู่ตลอดเวลา ใช้ความรู้ และประสบการณ์จากการสอน การวิจารณ์ การดูงานศิลปะ มาเรียบเรียงจัดให้เป็นระบบ และสามารถถ่ายทอดเป็นผลงานด้านวิชาการได้อันเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาศิลปะอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานที่แสดงถึงคุณค่า ความงาม อารมณ์ และความรู้สึก ได้อย่างสะเทือนใจ ผลงานได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ รวม ๓ ครั้ง จึงได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๒ นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ผู้ศึกษาวิชาศิลปะได้อย่างดียิ่ง และอุทิศตนให้กับงานการกุศล ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและอนุชนรุ่นหลังต่อไป
สาขาวรรณศิลป์
นายอดุล จันทรศักดิ์ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์ บทความ)
http://x.thaikids.com/phpBB2/viewtopic.php?t=2999&postdays=0&postorder=asc&start=0
ผู้ใช้นามปากกา “ธารี” “อัคนี หฤทัย” ฯลฯ ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี เกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มรับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จนดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างวินัยและรักษาระบบคุณธรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง
ท่านเริ่มแต่งร้อยกรองตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม เมื่อเป็นนิสิต ได้เป็นตัวแทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าแข่งขันกลอนสดระหว่างสถาบัน เคยได้รับรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ มีผลงานกลอนรวมเล่มกับนักกลอนร่วมสมัยหลายเล่ม ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานกวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยเขียนบทกวีประจำในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ บทกวีเหล่านี้เป็นผลงานที่มีคุณค่า ภายหลังได้นำมารวมเล่ม ได้รับรางวัลระดับชาติหลายรางวัลและยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานคีตศิลป์ต่อเนื่องไปอีกด้วย มีผลงานที่ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ ดอกไม้ไฟ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในฐานะหนังสือดีเด่น ประเภทกวีนิพนธ์ ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๓๕ / จุมพิตและเพลงลา กับ ตำนานถนนราชดำเนิน บทกวีดีเด่นที่ได้รับการยกย่องจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ๒๕๓๔ และ ๒๕๓๕ / ณ กาลเวลา ได้รับรางวัลนักเขียนคอลัมน์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๘ จากคณะกรรมการกองทุน ม.ร.ว.อายุมงคล
จุดเด่นในงานกวีนิพนธ์ของท่าน อยู่ที่การแสดงทัศนะ วิพากษ์วิจารณ์ และปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่อปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างเฉียบแหลม คมคาย ด้วยลีลากลอนเฉพาะตัว ทั้งละเมียดละไมและแฝงนัยอย่างมีอารมณ์ขัน กล่าวได้ว่าท่านสร้างสรรค์กวีนิพนธ์เพื่อสื่อสารแก่สังคมให้ผู้อ่านได้ร่วมรับรู้ ร่วมรู้สึก ร่วมคิด ทั้งคิดย้อนคิดแย้ง ทำให้เกิดพลังทางปัญญาและได้รับความสะเทือนอารมณ์อย่างลุ่มลึกไปพร้อมกัน
กว่า ๔๐ ปีของการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดยืนและอุดมการณ์ อันแน่วแน่ในการรักษาความจริง ความถูกต้องและความเที่ยงธรรม พร้อมกับยืนหยัดในการปกป้องเสรีภาพทางความคิดและการกระทำ กวีนิพนธ์ของอดุล จันทรศักดิ์ มีความโดดเด่นในด้านพัฒนาการทางความคิด ทางอารมณ์และเปี่ยมด้วยพลังทางวรรณศิลป์
สาขาศิลปะการแสดง
หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (ดนตรีไทยสากล – ขับร้อง)
ปัจจุบันอายุ ๘๑ ปี เกิดวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๗๐ ที่วังเพชรบูรณ์ สำเร็จการศึกษาระดับเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถเฉพาะตัวที่สูงยิ่งทั้งด้านการขับร้องเพลง ศิลปะการแสดง การพูด และการเขียนบทความ โดยเฉพาะการขับร้องเพลงไทยสากล มีเทคนิคการร้องเพลงที่เป็นแบบเฉพาะของตนเอง การเอื้อน การออกเสียงเต็มไปด้วยมนต์ขลังทั้งนุ่มนวล อ่อนหวาน มีผลงานเพลงที่ขับร้องอัดแผ่นเสียง รวมกว่า ๒๐๐ เพลง เพลงบางเพลงมีความไพเราะได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย อาทิ เพลงสีชัง ทะเลระทม วานลมจูบ ทำไมหนอ ตราบสิ้นลม วนาสวาท ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับสถานภาพของนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ให้มีเกียรติ มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของสังคม จากผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับ รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลงสีชัง
นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์งานด้านอื่น ๆ เช่น การทำศูนย์อาหารเชลล์ชวนชิม จัดรายการครอบจักรวาล จัดรายการวิทยุโทรทัศน์ เขียนบทความ เป็นพิธีกร เป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงาน องค์กร บริษัท สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน อยู่เป็นประจำ จนได้รับรางวัลเสาโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะจัดรายการดีเด่น รางวัลเมขลาในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านวิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น
ปัจจุบันท่านมีความเมตตาเอื้ออารีต่ออนุชนรุ่นหลัง โดยเป็นศิลปินต้นแบบถ่ายทอดความรู้ด้านการร้องเพลงไทยสากลที่ถูกต้อง ชัดเจน ให้กับนักร้องรุ่นใหม่ ๆ และเป็นผู้อนุรักษ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ปรากฏยั่งยืนสืบไป
นายประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปิน (นาฏศิลป์-โขน)
http://x.thaikids.com/phpBB2/viewtopic.php?t=3395
ปัจจุบันอายุ ๖๗ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื่องจากได้เห็นการแสดงโขนลิงในงานวัดและเกิดความประทับใจ จึงไปศึกษาที่โรงเรียนนาฏศิลป์ โดยเลือกศึกษาประเภทโขนลิง จากความสนใจในการศึกษาและมีความสามารถในด้านการแสดง ท่านจึงได้รับการสืบทอดและร่วมแสดงโขนกับครูกรี วรศะริน จนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชานาฏศิลป์ชั้นสูง ต่อมาได้รับราชการในตำแหน่งศิลปินจัตวา กองการสังคีต กรมศิลปากร และได้เลื่อนตำแหน่งมาตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์
ท่านเป็นศิลปินที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการแสดงโขนลิงเป็นอย่างมาก จึงได้รับมอบหมายให้แสดงเป็นหนุมานแทบทุกตอน อาทิ ฉุยฉายหนุมาน ลงสรงโทน หนุมานทรงเครื่อง สุครีพ พาลี องคต นิลนนท์ มีผลงานการแสดงโขนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งได้แสดงละครและรำเบ็ดเตล็ด เช่น รำกราวอาสาในละครเรื่องมโนห์รา รำซัดราตรี รำสี่ภาค รำเหย่ย รำโคม แสดงละครเรื่อง อานุภาพแห่งความรัก อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น นอกจากงานด้านการแสดงแล้วยังได้สร้างสรรค์ผลงานมากมาย เช่น รำฉุยฉายพาลี รำกราวทหารนเรศวร รำเพลงปลุกใจ ตลอดจนเป็นผู้กำกับการแสดงโขนชุดพิเภกสวามิภักดิ์ ณ โรงละครแห่งชาติ ครูผู้สอนโขนตัวลิง เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักศึกษาตามสถานศึกษาต่าง ๆ โดยล่าสุดได้เป็นผู้สร้างสรรค์ท่าเต้นโขนลิงประกอบการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ของกรมศิลปากร ชุดโขนวานรพงศ์ ในงานพระราชพิธีพระเมรุพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ปัจจุบันท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ถือเป็นศิลปินผู้ผดุงรักษาไว้ด้วยความงามตามแบบแผนของศิลปะการแสดงโขนที่มีบทบาทการแสดงโขนลิงทุกตัวในเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะบทของหนุมานซึ่งไม่เผยใบหน้า
พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล)
ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ สำเร็จการศึกษา L.R.A.M. จาก Royal Academy of Music และ L.T.C.L. จาก Trinity College of Music ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ท่านเข้ารับราชการเป็นนักดนตรีเล่นไวโอลินในวงดุริยางค์ของกองดุริยางค์ทหารเรือ ต่อมาเป็นวาทยกร วงดุริยางค์ทหารเรือ ออกแสดงในงานกาชาดคอนเสิร์ตเป็นประจำทุกปี และมีผลสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากหัวหน้าแผนกดนตรี จนได้เป็นผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือ จากความสามารถ พร้อมประสบการณ์ได้ร่วมก่อตั้งวง Pro Musica และวง Bangkok Symphony Orchestra วางรากฐาน และพัฒนานักดนตรีในฐานะผู้อำนวยเพลง จนได้มาตรฐานสากล มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ตลอดระยะเวลารวม ๔๐ ปี และได้ร่วมก่อตั้งสถาบัน Bangkok Symphony Music School ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเครื่องสายทุกชนิด ผลิตนักดนตรีเครื่องสายที่มีฝีมือหลายรุ่น มีผลงานการประพันธ์เพลงและเรียบเรียงเสียงประสาน ให้กับหน่วยราชการของกองทัพเรือ โรงเรียน และบุคคลทั่วไป เช่น เพลงทหารพรานนาวิกโยธิน “นักรบชุดดำ” / เพลงมาร์ชศรีธานี / เพลงน้อมเกล้าฯ ถวายชัยมงคล / เพลงสิริมหาราชินี / เพลงยิ้มสู้ / เพลงไทยใหญ่ / เพลงศึกบางระจัน เป็นต้น หลังเกษียณอายุราชการยังคงทำหน้าที่สอนดนตรีทั้งไวโอลิน วิโอล่า ทฤษฎีดนตรี และการรวมวงให้แก่บุคคลทั่วไปเป็นประจำทุกวัน
ปัจจุบันท่านยังทำหน้าที่วาทยากรของวง Bangkok Symphony Orchestra ในรายการคอนเสิร์ตภูมิใจไทย ของไทยธนาคาร / ดนตรีในสวน ณ สวนลุมพินีวัน จนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ
นายศิริ วิชเวช สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์)
http://x.thaikids.com/phpBB2/viewtopic.php?t=2871&postdays=0&postorder=asc&highlight=%C8%D4%C3%D4+%C7%D4%AA%E0%C7%AA&start=15
ปัจจุบันอายุ ๗๖ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ตำบลบางโคล่ อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศึกษาดนตรีไทยทั้งทางร้องและทางเครื่องกับบิดา คือ ครูฟุ้ง วิชเวช จนสามารถร้องเพลงและบรรเลงเพลงได้เป็นอย่างดี ทางร้องเรียนเพลงตับพรหมมาสตร์ ตับนางลอย และเพลงอื่น ๆ อีกหลายเพลง ทางเครื่องเรียน ปี่พาทย์และเครื่องสาย ต่อมาได้เรียนขับร้องและขับเสภากับครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ที่บ้านบางลำพู เรียนขยับกรับขับเสภาและการแสดงเสภารำและเสภาตลก พร้อมทั้งได้รับมอบกรับคู่มือของหมื่นขับคำหวาน (เจิม นาคมาลัย) จากครูเจือ นาคมาลัย หลานลุงของหมื่นขับคำหวาน เรียนเครื่องสายเพิ่มเติมจากครูลาภ มณีลดา และเรียนทางร้องเพลงทยอยเดี่ยวสายท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) กับครูจันทนา พิจิตรคุรุการ
ท่านได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถอีกทั้งแรงกายแรงใจ เพื่อทำหน้าที่สืบสานและถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาและผู้สนใจในหลายหน่วยงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตลอดจนมีผลงานสร้างสรรค์ดนตรีไทยอย่างมากมาย อาทิ คิดค้นวิธีทำไม้กรับเสภาให้มีเสียงไพเราะ เป็นรูปแบบมาตรฐานของกรับเสภา ตามระเบียบวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย เขียนหลักสูตรการขับเสภาตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงระดับปริญญาเอก ของทบวงมหาวิทยาลัย ฟื้นฟูประเพณีเห่ช้าลูกหลวง ประพันธ์ทางร้องเพลงเชิดจีนสามชั้น ทางขับเสภาจีน ทางขับเสภาแขก ทางขับเสภาพม่า ทางขับเสภามอญ ฯลฯ และเขียนหนังสือประกอบเทปและซีดีเสภาเสนาะคำหวาน ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร สิกขโกศล เผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้สนใจ จากความรู้ความสามารถและสร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีไทยทำให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไป ได้รับรางวัลและการยกยองเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ ได้รับยกย่องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ศาสตร์ไทย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / ได้รับรางวัลพระสิทธิธาดาทองคำพระราชทาน เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม / ได้รับศิลปกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
นายกรีพงศ์ เทียมเศวต (สรพงศ์ ชาตรี) สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)
ปัจจุบันอายุ ๕๙ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ และบรรพชาเป็นสามเณรจนอายุ ๑๙ ปี ขณะบรรพชาได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนสอบได้นักธรรมเอก เนื่องจากนายกรีพงศ์ เทียมเศวต มีความสนใจงานด้านการแสดงชอบดูหนังกลางแปลงมาตั้งแต่เด็ก จึงไปสมัครเป็นนักแสดงที่ทีวีช่อง ๗ สี ต่อมาได้แสดงฉากโดดลงไปช่วยคนตกน้ำในเรื่อง “หญิงก็มีหัวใจ” ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นเรื่องแรก หลังจากนั้นได้พัฒนาการแสดงอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวประกอบ และได้แสดงเป็นพระเอกในที่สุด
นายกรีพงศ์ เทียมเศวต มีผลงานการแสดง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ จนถึงปัจจุบัน มากกว่า ๕๐๐ เรื่อง ละคร ๕๐ เรื่อง แสดงเป็นพระเอกในหลายบทบาทมากมาย เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน สามล้อถีบ สามล้อเครื่อง แท็กซี่ ขับรถเมล์ ตำรวจ ทหาร ลิเก หมอ ครู คนบ้า ขอทาน ตาบอด หลังค่อม หน้าบาก มนุษย์หมาป่า ฯลฯ จนได้รับฉายา พระเอกชั้นครู และพระเอกตลอดกาล นอกจากจะมีความสามารถในด้านการแสดงแล้ว ยังมีความสามารถในเรื่องการร้องเพลง พากย์หนัง ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และกำกับละครให้กับบริษัทเวิร์คพอยด์ สอนการแสดงให้กับนักแสดงหน้าใหม่จนมีชื่อเสียงหลายคน จากการที่มีความสามารถทางด้านภาพยนตร์เป็นอย่างสูง จึงเป็นดาราชายที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ไทย อาทิ รางวัลตุ๊กตาทอง ๕ รางวัล จากเรื่อง ชีวิตบัดซบ / สัตว์มนุษย์ / มือปืน / มือปืน ๒ / สาละวิน / เสียดาย ๒ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ๒ รางวัล จากเรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก / มือปืน รางวัลดาราทอง จากภาพยนตร์เรื่อง พลอยทะเล รางวัลดาราดาวรุ่งยอดเยี่ยม ในการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ จากเรื่อง มือปืน รางวัลเพชรสยาม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รางวัลบันเทิงเทิดธรรม Nine Entertain Award ๒๐๐๘ ได้รับยกย่องเป็นพระเอกยอดนิยมอันดับ ๑ ดาราชายยอดนิยมอันดับ ๑
ปัจจุบันนายกรีพงศ์ เทียมเศวต ยังคงรับแสดงภาพยนตร์และละคร ถึงแม้จะไม่ได้รับบทพระเอก แต่บทที่รับแสดงจะมีความโดดเด่น มีความหมายให้แง่คิดในการชม รักษาภาพลักษณ์ของคำว่า ดาราคุณภาพ นอกจากนี้ ยังได้หันมาทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม โดยตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้ความรู้แก่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ
|
วันที่ 25 ม.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,416 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,153 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,245 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,203 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 19,367 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,244 ครั้ง |
เปิดอ่าน 37,364 ครั้ง |
เปิดอ่าน 22,296 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,326 ครั้ง |
|
|