คลังเคลียร์ปัญหาผลตอบแทนข้าราชการ เร่งพิจารณา 6 มาตรการเยียวยาสมาชิก กบข. จากข้อร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีสูตรคำนวณผลตอบแทน คาดแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาหากจะต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินงบประมาณ
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ค.นี้ กรมบัญชีกลางจะสามารถพิจารณาแนวทางการเยียวยาผลตอบแทนเงินบำนาญที่จะได้รับหลังจากเกษียณของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกในปี 2540 ให้แล้วเสร็จ หลังจากสมาชิก กบข.จำนวนมากได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุง เนื่องจากมองว่ายังมีความไม่เป็นธรรมในสูตรการคำนวณ โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากกลุ่มที่ไม่เข้าเป็นสมาชิก กบข.
“กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการจัดทำตัวเลข ทั้งในแง่ผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่สมาชิก และผลกระทบที่จะมีต่องบประมาณของประเทศ เพื่อเสนอให้ระดับนโยบายได้พิจารณา ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์นี้ผลการคำนวณตัวเลขดังกล่าวจะแล้วเสร็จ เพื่อเสนอให้ระดับนโยบายได้พิจารณาในสัปดาห์ถัดไป โดยหากแนวทางการพิจารณากระทบต่องบประมาณจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติด้วย”
นางสาวสุภากล่าวว่า ก่อนหน้านี้สมาชิก กบข.ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน ร้องเรียนว่า สูตรการคำนวณเงินบำนาญของสมาชิก กบข.ไม่มีความเป็นธรรม ไม่เป็นไปตามที่ได้เคยสัญญาไว้กับสมาชิกในช่วงก่อนที่จะจัดตั้งกองทุนในปี 2540 โดยสูตรการคำนวณเงินบำนาญของสมาชิกเมื่อเกษียณอายุราชการ ได้กำหนดดังนี้ คือ เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ หารด้วย 50 แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ได้มีการใช้อัตราผลตอบแทนของกองทุนที่ 9% ตามอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ในขณะนั้น แต่เมื่อผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนไม่ถึง 9% เงินก้อนหรือเงินบำเหน็จ ที่จะได้รับหลังเกษียณ นอกเหนือจากเงินบำนาญ ก็ได้น้อยกว่าที่คาดไว้ในช่วงแรกด้วย
“ประเด็นในเรื่องการกำหนดเงินบำนาญไว้ที่ 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย อาจเป็นปัญหาสำหรับคนที่รับราชการมายาวนาน และข้าราชการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับอายุราชการแบบวันทวี (เช่น รับราชการในพื้นที่นี้ 1 ปี เท่ากับอายุราชการ 2 ปี เป็นต้น) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีอายุราชการมาก แต่เมื่อนำมาใส่ในสูตรคำนวณแล้วกลับถูกกำหนดเงินบำนาญไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย”
ทั้งนี้ สูตรการคำนวณบำนาญอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า จะมีการปรับฐานเงินเดือนทุกๆ
5 ปี ก็ต้องไปดูว่ามีการปรับตามสูตรหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ได้ปรับตามสูตรก็ทำให้เมื่อคำนวณเงินบำนาญตามสูตร เงินบำนาญหลังเกษียณต่ำลงไปด้วย
สำหรับแนวทางพิจารณาเยียวยาให้สมาชิก ได้กำหนดไว้ 6 แนวทางเลือก คือ
1.รัฐไม่สมควรที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงสูตรการคำนวณบำนาญ
2.ให้สมาชิก กบข.สามารถเลือกได้ว่าจะรับบำนาญตามสูตรการคำนวณแบบเดิม
3.ชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้แก่ข้าราชการที่สมัครเป็นสมาชิก กบข.ในช่วงก่อนที่จะมีการจัดตั้ง กบข. (9%) กับอัตราผลตอบแทน ที่ผู้รับบำนาญได้รับจริงเมื่อออกจากราชการ (9%)
4.ปรับสูตรการคำนวณบำนาญตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญ พ.ศ.2539
5.ชดเชยให้สมาชิก กบข.ที่ออกจากราชการตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 (มีบางปีที่ กบข.มีอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงาน ลบ 5.17%) โดยเลือกชดเชยอัตราผลตอบแทนให้เท่ากับ 9% อัตราผลตอบแทนที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ หรือชดเชยอัตราผลตอบแทนให้เท่ากับ 2.52% (อัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ในปี 2551) และ
6.หาแนวทางชดเชยเวลาราชการให้กับสมาชิก กบข.ที่มีเวลาราชการเกิน 40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสมาชิก กบข.อยู่รวม 1.16 ล้านคน.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 7 พฤษภาคม 2555