ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ได้เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เป็น “โครงการผลิตครูมืออาชีพ” และแต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารโครงการครูมืออาชีพ จำนวน ๒ ชุด คือ คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ และคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูมืออาชีพ จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อมอบนโยบายและกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานในภาพรวม ดังนี้
- หลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ รับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ จากทุกคณะ ทุกสถาบันการศึกษาที่สนใจจะมาเป็นครู ที่มีผลการเรียน ๓.๐๐ ขึ้นไป สอบแข่งขันเพื่อเข้ารับบรรจุเป็นข้าราชการครู ในสัดส่วนของสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูมืออาชีพจะเป็นผู้ดูแลในการออกข้อสอบ
- สัดส่วนการรับครู ได้ทำความตกลงระหว่าง สกอ. สพฐ. และคุรุสภา เกี่ยวกับจำนวนครูที่จะรับในแต่ละปี ซึ่ง ศธ.จะประกาศล่วงหน้าทั้งในส่วนของ สพฐ. และ สอศ. โดยได้กำหนดสัดส่วนในการรับครู ดังนี้ ๑) ครูอัตราจ้างที่กำลังสอน ๒๐% ของจำนวนครูที่จะรับทั้งหมด ๒) นักศึกษาโครงการครูมืออาชีพ ๓๐% ๓) นักเรียนทุนอื่น ๕% ของจำนวนครูที่จะรับทั้งหมด และ ๔) สอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นครู ๔๐% ของจำนวนครูที่จะรับทั้งหมด
- โครงการครูมืออาชีพ ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาที่ศึกษาอยู่ ซึ่งเดิมหลักเกณฑ์กำหนดให้เลือกสถาบันฝ่ายผลิตและมอบงบประมาณไปยังสถาบัน เพื่อให้สถาบันคัดเลือกนักศึกษาและจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษา ซึ่ง รมว.ศธ.ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์นี้ เพราะไม่ยุติธรรมสำหรับนักศึกษาที่ดี มีความสามารถ แต่ไม่อยู่ในสถาบันที่ได้รับคัดเลือก ทำให้เสียสิทธิ์อันชอบธรรม อีกทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดโควตาของสถาบันฝ่ายผลิตและเฉลี่ยทุนการศึกษาโดยไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่วางไว้
ที่ประชุม ได้หารือเกี่ยวกับการผลักดันให้ครูที่สอนอยู่ในปัจจุบันกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ให้ได้มีโอกาสเป็นครูมืออาชีพด้วย โดยมอบหมายให้ สกอ.พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ว่า ควรจะใช้วิธีใด เช่น การแสดงผลงาน การพิจารณาจากคะแนนสอบ O-Net ของนักเรียนในชั้นเรียน หรือการทดสอบ แต่ขอให้งดการสัมภาษณ์ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการฉ้อฉล รีดเลือดกับครู หรือเกิดเหตุการณ์ “ครูกินครู” อย่างไรก็ตามมีนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ที่ผ่านการคัดเลือกรุ่นปีการศึกษา ๒๕๕๕ จำนวน ๗๔๒ คน จากผู้สมัคร ๑,๐๐๐ คน ซึ่งการดำเนินการขั้นตอนต่อไป ศธ.จะดูแลนักศึกษาที่สอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน ถูกคัดออก จำนวน ๒๕๘ คน ให้มาแสดงความจำนงเพื่อเข้ารับการทดสอบตามที่คณะกรรมการกำหนดอีกครั้ง และยืนยันว่าจะเดินหน้าคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการในปี ๒๕๕๕ ให้ครบ ๑,๕๐๐ คนโดยเร็ว
สำหรับบัณฑิตด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กว่า ๕๐๐ คน ที่ต้องการเป็นครู แต่ติดขัดเรื่องการเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพครูนั้น รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้เลขาธิการคุรุสภาเร่งจัดประชุมพิจารณาปรับหลักเกณฑ์วิธีการเพื่อรองรับครูจำนวนนี้ภายใน ๒ สัปดาห์ เพื่อให้ครูที่มีความสามารถ มีศักยภาพตรงกับความต้องการของประเทศ ได้เข้ามาเป็นครูและพัฒนาอนาคตของชาติต่อไป
คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ มีองค์ประกอบ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ศาตราจารย์บุญทัน ดอกไธสง รองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ นางพรนิภา ลิมปพยอม นายดิเรก พรสีมา นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคุรุสภา ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน ๒ คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ ๑) กำหนดนโยบาย กรอบและทิศทางการดำเนินงานของโครงการผลิตครูมืออาชีพ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ๒) กำกับ ดูแล บริหารโครงการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โครงการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ๓) ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานโครงการต่อกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี และสาธารณชน ๔) แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
คณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูมืออาชีพ มีองค์ประกอบ ได้แก่ นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เป็นประธานกรรมการ นางพรนิภา ลิมปพยอม และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รองศาสตราจารย์สมบัติ นพรัก รองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ รองศาสตราจารย์วรพล พรหมิกบุตร นางเบญจวรรนรี โชติช่วงนิรันดร์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน ๒ คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ ๑) จัดทำเกณฑ์และคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตเข้าร่วมโครงการ ๒) จัดทำเกณฑ์และดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาทุนเข้าร่วมโครงการ ๓) จัดทำประชาสัมพันธ์โครงการ ๔)รายงานผลการดำเนินงานต่อกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี และสาธารณชน ๕) แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/may/124.html