ศึกษาธิการ - ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 4 เรื่อง คือ
- เพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนวุฒิปริญญาตรีให้ได้รับเดือนละ 15,000 บาท
- เห็นชอบร่างกฎ ก.ค.ศ. การจัดประเภทตำแหน่งฯ การให้ได้รับเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่ง บุคลากรทางการศึกษาอื่นฯ
- เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เป็น "โครงการผลิตครูมืออาชีพ"
- เห็นชอบผลการดำเนินการโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)
►อนุมัติงบประมาณเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนวุฒิปริญญาตรีให้ได้รับเดือนละ 15,000 บาท
รมว.ศธ.กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนโรงเรียนเอกชน ในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป (เดือนมกราคม – กันยายน 2555 รวม 9 เดือน) จำนวน 695,999,100 บาท (งบประมาณที่ต้องใช้ 1,093,999,100 บาท หักด้วยเงินอุดหนุนเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวครูโรงเรียนเอกชนปี 2555 ที่เหลือจ่าย จำนวน 398,000,000 บาท) โดยจัดสรรในประเภทงบเงินอุดหนุนรายการเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นของโรงเรียนเอกชน (ค่าจัดการเรียนการสอน) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
►เห็นชอบร่างกฎ ก.ค.ศ. การจัดประเภทตำแหน่งฯ การให้ได้รับเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่ง บุคลากรทางการศึกษาอื่น
ครม.เห็นชอบร่างกฎ ก.ค.ศ. การจัดประเภทตำแหน่ง ระดับตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ ศธ.เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) ให้ยกเลิก กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการกำหนดระดับตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) พ.ศ. 2550
2) กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) มีสองประเภท คือ ประเภทวิชาการและประเภททั่วไป
3) กำหนดให้ตำแหน่งประเภทวิชาการ มีสี่ระดับ และตำแหน่งประเภททั่วไป มีสามระดับ
4) กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทใด สายงานใด และระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับนั้น ในขั้นต่ำของระดับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับ ที่ได้รับแต่งตั้งตามบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน เว้นแต่กรณีที่กำหนด
5) กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสและตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้ได้รับเงินเดือนตามที่กำหนด
6) กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
7) กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสายงานตามบัญชีกำหนดสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งท้ายกฎ ก.ค.ศ. นี้ ในตำแหน่งประเภทใดและระดับใด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนด
--------------------------------------------------------------------------------
►เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ และแต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารโครงการ
ครม.เห็นชอบตามที่ ศธ.เสนอดังนี้
1) เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เป็น "โครงการผลิตครูมืออาชีพ"
2) แต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารโครงการครูมืออาชีพ จำนวน 2 ชุด คือ คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ และคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูมืออาชีพ
สาระสำคัญของโครงการ โครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 ธันวาคม 2552 แต่ ศธ.เห็นว่า ชื่อของโครงการฯ ทำให้เกิดข้อสงสัยกับความหมายของคำว่า “ครูพันธุ์ใหม่” ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการผลิตครูมืออาชีพ ที่มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และมีอุดมการณ์ในวิชาชีพครู ด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรมที่เข้มข้น ในสาขาและพื้นที่ที่ขาดแคลนและจำเป็นต่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา โดยมีเป้าหมายการผลิตจำนวน 5 รุ่น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2558 รวมจำนวน 30,000 คน ด้วยหลักสูตรครูระดับปริญญาตรี (5 ปี) และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จึงขอเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “โครงการผลิตครูมืออาชีพ”
นอกจากนี้ จากการสิ้นสุดการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตกรณีการรับนักศึกษาครูที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 และรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู รวมทั้งประกาศผลการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ รุ่นปีการศึกษา 2554 กรณีรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี รูปแบบการประกันการมีงานทำ (ไม่มีทุนการศึกษา) ซึ่งจะต้องประกาศผลการคัดเลือกพร้อมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับจัดสรรให้บรรจุเข้ารับราชการครู เนื่องจากต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด รวมทั้งนักเรียนนักศึกษา ครู และผู้ปกครองได้มีการสอบถามเกี่ยวกับการประกาศผลการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ รุ่นปีการศึกษา 2554 และขอทราบนโยบายความต่อเนื่องในการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เพื่อทำหน้าที่บริหารโครงการฯ โดยเร็ว
ทั้งนี้ การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 265 และ 267 ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารโครงการทั้ง 2 ชุด เป็นการดำเนินงานในเชิงประสานงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ไม่มีเรื่องผลประโยชน์และการเข้ารับสัมปทาน จึงไม่มีผลกับกฎหมายด้านต่างๆ
1) คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- องค์ประกอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ศาตราจารย์บุญทัน ดอกไธสง รองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ นางพรนิภา ลิมปพยอม นายดิเรก พรสีมา นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคุรุสภา ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา เป็น กรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- อำนาจหน้าที่
1. กำหนดนโยบาย กรอบและทิศทางการดำเนินงานของโครงการผลิตครูมืออาชีพ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. กำกับ ดูแล บริหารโครงการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โครงการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
3. ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานโครงการต่อกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี และสาธารณชน
4. แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
2) คณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูมืออาชีพ องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- องค์ประกอบ นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เป็นประธานกรรมการ นางพรนิภา ลิมปพยอม และผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รองศาสตราจารย์สมบัติ นพรัก รองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ รองศาสตราจารย์วรพล พรหมิกบุตร นางเบญจวรรนรี โชติช่วงนิรันดร์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- อำนาจหน้าที่
1. จัดทำเกณฑ์และคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตเข้าร่วมโครงการ
2. จัดทำเกณฑ์และดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาทุนเข้าร่วมโครงการ
3. จัดทำประชาสัมพันธ์โครงการ
4. รายงานผลการดำเนินงานต่อกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี และสาธารณชน
5. แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
--------------------------------------------------------------------------------
►เห็นชอบผลการดำเนินการโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต
ครม.เห็นชอบผลการประชุมหารือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายนิรุตติ คุณวัฒน์) เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการกองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต ดังนี้
1) ระยะเวลาดำเนินการ เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป
2) รูปแบบการดำเนินการ
- โครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาฯ ครอบคลุมเฉพาะนักเรียน นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าเฉพาะหลักสูตร / สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคน โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นนักเรียน / นักศึกษารายใหม่ที่ มิใช่ ผู้กู้ยืมรายเก่าของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยกเว้นกรณีผู้กู้ยืมรายเก่าของ กยศ. ที่เปลี่ยนระดับจาก ม.6 หรือเทียบเท่า เป็น ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าในปีการศึกษา 2555 โดยผู้กู้ยืมที่เปลี่ยนระดับนี้ อาจเลือกที่จะกู้ยืม กยศ. หรือเข้าร่วมโครงการก็ได้
- สำหรับในปีการศึกษา พ.ศ. 2555 การกำหนดหลักสูตร / สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนในเบื้องต้นให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษาตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปพลางก่อน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นก็ได้ โดยมีรายละเอียดของหลักสูตร / สาขาวิชาไม่ต่ำกว่าเดิม
- กรณีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มีฐานะยากจนมีสิทธิได้รับค่าครองชีพเพิ่มเติมจากค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่สถานศึกษาเรียกเก็บตามกฎหมาย โดยใช้อัตราเดียวกันของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
- สำหรับรายละเอียดของการดำเนินการโครงการฯ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้มีความแตกต่างและสร้างความสับสนต่อนักเรียน นักศึกษา ก็ให้ใช้แนวทางเช่นเดียวกับ กยศ. ยกเว้น กรณีหลักเกณฑ์การชำระคืนเงินกู้ของโครงการฯ ที่ควรต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับหลักการของโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษา ฯ ที่มุ่งเน้นในหลักสูตร/ สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ดังนั้น การชำระคืนเงินกู้จะยึดโยงกับความสามารถในการหารายได้ในอนาคตเป็นสำคัญก่อนเริ่มให้มีการชำระคืนเงินกู้ยืมของโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาฯ
- มอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษาตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พิจารณาจัดเตรียมรายละเอียดรูปแบบการดำเนินการและโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาฯ โดยให้ทันต่อการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 เช่น 1) คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาฯ 2) ปรับปรุงรายละเอียดสาขา / วุฒิขาดแคลนเดิมจากที่ใช้ในปีการศึกษา 2551 ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 3) กรอบวงเงินและการจัดสรร 4) เอกสารหลักฐานต่าง ๆ 5) ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความเข้าใจ 6) การบริหารงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
- เพื่อให้การดำเนินการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีการบูรณาการครอบคลุมการดำเนินงานของโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษา ฯ และ กยศ. ในระยะต่อไป จึงเห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการ กยศ. และคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษาเร่งจัดทำร่างกฎหมายรองรับการดำเนินการโครงการฯ ในระยะยาว โดยให้ควบรวมกฎหมาย กยศ. เป็นส่วนหนึ่ง และให้มีผลบังคับใช้ภายในปีการศึกษา พ.ศ. 2556 ต่อไป
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/may/121.html