ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการศึกษา เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๕ โดยมี ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงในสังกัด สพฐ. ร่วมประชุม
รมว.ศธ.กล่าวถึงนโยบายการศึกษาคือกุญแจสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขจัดความยากจน โดยนโยบายของ ศธ.จะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูแลครูอาจารย์เสมือนคนในครอบครัว ดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลานของเรา จะไม่ดูแลเหมือนลูกคนใช้ จึงต้องให้โอกาสและความเท่าเทียมกัน ส่วนครูเป็นเรือจ้าง ที่จะช่วยผลักดันให้นักเรียนเรียนเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่แจวเรือ ก็ไม่ควรจะต้องมีหนี้สินจากระบบที่ไม่เป็นธรรม จากการเสียเงินทองวิ่งเต้นโยกย้าย เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง
ทั้งนี้ ศธ.ได้เน้นการขยายโอกาสทางการศึกษา ๔ ด้าน คือ
๑) โอกาสเข้าถึงทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เนื่องจากความเป็นเลิศมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่นักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในชนบท มีฐานะยากจน จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม เช่น โครงการ One Tablet PC per Child โดยจะจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ในภาคเรียนแรก ปีการศึกษา ๒๕๕๕ และมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ ซึ่งขณะนี้ได้อยู่ระหว่างการทำสัญญาจัดซื้อ และนำหลักสูตรมาใส่ในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต
๒) โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่นักเรียนและผู้ปกครองจะได้คลายความกังวลในเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมจัดทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการเงินทุนการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โดยเปลี่ยนจากคำว่าเงินกู้ยืม เป็นทุนการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษานักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ ตามโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน และกองทุนตั้งตัวได้ เป็นต้น
๓) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง การเรียนรู้บนการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning) ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการอัจฉริยะสร้างได้ เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดของตนเองในทุกๆ สาขา
๔) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจะส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ เช่น ดำเนินการตามโครงการอินเทอร์เน็ตตำบล และหมู่บ้าน ในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งให้ประชาชนที่ไม่จบ ม.๖ สามารถเทียบประสบการณ์และการเรียนรู้จนจบ ม.๖ ได้ภายใน ๘ เดือน
รมว.ศธ.ได้เสนอให้ที่ประชุมรับทราบถึง ๑๘ นโยบายหลักด้านการศึกษา ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้การบริหารของ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
๑. แท็บเล็ตสำหรับนักเรียน ป.๑ และ ม.๑ ทุกคน
คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ช่วยในการสอน และการสืบค้นองค์ความรู้
๒. เรียน ม.๖ จบทุกคนใน ๘ เดือน
เรียนในเวลา และนอกเวลาได้ เพื่อก้าวทันโลก และทันลูกหลาน
๓. กองทุนตั้งตัวได้
เงินทุนขั้นต้น สำหรับผู้จบปริญญาตรีแล้ว พร้อมเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต
๔. ๑ อำเภอ ๑ ทุน
เปิดโอกาสให้เด็กเก่งทุกอำเภอ ไปเรียนต่อต่างประเทศ
๕. พูดภาษาอังกฤษได้ พร้อมเข้าสู่ประชาคม ASEAN
๘๐% ของนักเรียนทั้งประเทศ สื่อสารภาษาอังกฤษได้ พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘
๖. ปรับเลื่อนวิทยฐานะ โยกย้ายครูด้วยความเป็นธรรม
สอบแข่งขัน วัดความสามารถด้วยตนเอง ไร้เส้นสายฝากฝัง
๗. ๕ ฟรี เรียนดีอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่อนุบาลจนจบ ม.๖
ฟรี ค่าเล่าเรียน ฟรี ค่าเครื่องแบบ ฟรี ค่าอุปกรณ์การเรียน ฟรี ค่าหนังสือเรียน ฟรี ค่ากิจกรรม
๘. กระทรวงศึกษาธิการไทยใสสะอาด
สร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ปราศจากทุจริตและคอรัปชัน
๙. อัจฉริยะสร้างได้
ส่งเสริมให้เด็กเก่ง เด็กฉลาดทุกคน เตรียมความพร้อม เป็นผู้นำประเทศในทุกสาขา
๑๐. สร้างพลังครู
แก้ไขปัญหาหนี้สินครู ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างโอกาสให้กับครู
๑๑. เลิกหลักสูตรท่องจำ
เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ ใช้ปัญญา และจินตนาการอย่างไม่สิ้นสุด
๑๒. Internet ตำบล และ หมู่บ้าน
ค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา
๑๓. คูปองสร้างเสริมอัจฉริยะ
มอบคูปองแลกหนังสือ ให้โอกาสเด็กและเยาวชน เลือกหนังสือตามความพอใจ
๑๔. สร้างผู้นำแห่งอาเซียน (Becoming ASEAN Leaders Scholarship)
ให้ทุนปริญญาโทแก่นักศึกษาอาเซียนมาเรียนในประเทศไทย เตรียมพร้อมเป็นผู้นำแห่งอนาคตของประชาคมเศรษฐกิจในภูมิภาค
๑๕. ทุนการศึกษาเพื่ออนาคต (กรอ.)
ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ทุกระดับ ทุกสาขา เพื่อมีโอกาสเรียนต่อ เพิ่มพูนความรู้ และความก้าวหน้าในอนาคต
๑๖. ครูมืออาชีพ
เรียนเป็นครูทุกสาขาวิชาที่ประเทศต้องการ จบแล้วได้งานทำ มั่นคงในชีวิต กลับมาร่วมสร้างลูกหลานไทยให้เฉลียวฉลาด
๑๗. โรงเรียนร่วมพัฒนา
รวมพลังครู นักเรียน ทุกตำบล เพื่อความแข็งแกร่งทางวิชาการ พร้อมรับสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ สนับสนุนยานพาหนะรับส่ง และหอพัก เพื่อความปลอดภัย
๑๘. การศึกษาช่วยดับไฟใต้
ส่งเสริมการเรียนการสอน และการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน และผู้นำแต่ละองค์กรหลักในพื้นที่
สำหรับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๗ ราย โดยมีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ ส่วนผู้แทนองค์กรต่างๆ ใน กพฐ. มีนายสุกิจ เดชโภชน์ ผู้แทนองค์กรเอกชน นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายสมศักดิ์ โล่ห์เลขา ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ
ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีทั้งหมด ๑๓ ราย ได้แก่ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ นายมังกร กุลวานิช ศ.พันตำรวจตรี ยงยุทธ สารสมบัติ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นายสำรวม พฤกษ์เสถียร นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ นายดิเรก พรสีมา นายสิทธิรักษ์ จันทร์สว่าง ผศ.เรืองเดช วงศ์หล้า นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นายมานิจ สุขสมจิตร นายสุชาติ เมืองแก้ว และพระธรรมโกศาจารย์
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/apr/108.html