ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ เด็กนักเรียนในหลายประเทศดูจะมีภาวะเสี่ยงกับปัญหาร้อยแปดมากขึ้นในระหว่าง ที่อยู่ทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน สถานศึกษาซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็กจึงถูกคาดหวังจากสังคมให้เป็นเรี่ยวแรง สำคัญที่จะดูแลช่วยเหลือ ให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนแก้ปัญหาให้กับเด็กนอกเหนือไปจากการทำหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง
โฮมรูม เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่โรงเรียนขั้นพื้นฐานในต่างประเทศนิยมนำมาใช้ในการ ช่วยเหลือดูแลเด็กในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องการเรียนและชีวิตทุกด้าน โดยมีผลการประเมินยืนยันถึงข้อดีของการใช้กิจกรรมโฮมรูมจากโรงเรียนหลายแห่ง ว่าสามารถช่วยลดปัญหาและช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในแต่ละด้านทั้งด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา ดีขึ้น
แม้ในระยะ หลังโรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตเมืองจะจัดให้มีชั่วโมงโฮ มรูมอยู่บ้าง แต่ดูจะยังไม่จริงจังและแพร่หลายนักเนื่องจากครูมีภารกิจมากและมีเวลาที่ ค่อนข้างจำกัด เรียนรู้ข้ามโลกฉบับนี้จึงขอนำเสนอตัวอย่างการจัดกิจกรรมโฮมรูมของโรงเรียน ในประเทศอเมริกาซึ่งโดยรวมให้ความสำคัญและส่วนใหญ่บรรจุกิจกรรมดังกล่าวไว้ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้โรงเรียนในบ้านเรานำมาปรับใช้ในห้องเรียนได้ไม่มากก็น้อย
10 นาทีก็จัดได้
วัตถุประสงค์หลักในการจัดชั่วโมงโฮมรูมก็เพื่อเพิ่มโอกาสในการพบปะพูดคุยและ สร้างความคุ้นเคยระหว่างครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษากับเด็ก และในกลุ่มเพื่อนนักเรียนกันเอง โดยอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ถ้านักเรียนรู้สึกคุ้นเคยและไว้วางใจครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้นแล้ว พวกเขามีแนวโน้มที่จะกล้าพูดคุยปรึกษาปัญหาของตนเองกับครูมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับเด็กได้ทันท่วงที
สำหรับเวลาในการจัดนั้นพบว่าสามารถยืดหยุ่นได้ตามความสะดวก โรงเรียนหลายแห่งกำหนดเวลาสำหรับกิจกรรมโฮมรูม 1 ครั้ง/ อาทิตย์ บางแห่ง 2 ครั้ง/เดือน หรือจำนวนไม่น้อยจัดโฮมรูมทุกวัน เช่นที่โรงเรียนโอคเคลีย(Oaklia School) ในรัฐโอเรกอน กำหนดให้แต่ละชั้นมีการจัดกิจกรรมโฮมรูมทุกวันจันทร์-ศุกร์ในช่วง 10 นาทีแรกของชั่วโมงเรียนแรก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแจ้งข่าวสารประจำวันของทางโรงเรียนให้นักเรียนทราบ หรือยกประเด็นข่าวสารประจำวันหรืออื่นๆ ที่นักเรียนสนใจมาพูดคุยกัน
นอกจากนี้ โรงเรียนโอคเคลียยังได้เพิ่มเวลาโฮมรูมทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี วันละประมาณ 40 นาที เพื่อให้ครูที่ปรึกษาพบปะพูดคุยและจัดกิจกรรมให้เด็กได้นานขึ้น โดยกำหนดให้วันอังคารเป็นวันสำหรับการพูดคุยปรึกษาด้านวิชาการ และวันพฤหัสบดีพูดคุยเรื่องสังคมและทั่วๆ ไปที่อยู่ในความสนใจของเด็ก อย่างไรก็ตาม หากนักเรียนมีปัญหาและต้องการคำปรึกษาด่วนก็สามารถพูดคุยกับครูได้ทุกเวลา
ส่วนที่ ร.ร.มัธยมวิลเมต(Wilmette School) จัดโฮมรูมทุกวัน วันละ10 นาที จาก 8.00-8.10 น. เว้นวันพฤหัสบดีที่จัดโฮมรูมนาน 40 นาที ขณะที่ ร.ร.ฟรีวอเทอร์(Freewater Elemetary School) เปิดสอนระดับประถม ศึกษา จัดโฮมรูมให้กับนักเรียนทุกวัน วันละ 2 ช่วง ช่วงเช้า 30 นาที และช่วงบ่ายอีก 50 นาที-1 ชั่วโมง โดยมี ตัวอย่าง ตารางเรียนประจำวันของเด็กเกรด 3 ดังนี้
8.00-8.30 น. โฮมรูม
8.30-11.10 น. เรียนภาษา
11.15-11.55 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
12.00-13.00 น. คณิตศาสตร์ และ
13.00-14.55 น. เป็นชั่วโมงทำกิจกรรมโฮมรูมอีกครั้ง ก่อนโรงเรียนเลิกเวลา 15.00 น.
เนื้อหาหลากหลายยืดหยุ่น
รูปแบบของกิจกรรมโฮมรูมสามารถจัดได้หลากหลายไม่เพียงแค่ในลักษณะการพูดคุย โต้ตอบกันของครูและนักเรียนเท่านั้น หากยังสามารถจัดในลักษณะเกม การแสดงละคร หรือการลงมือฝึกปฏิบัติเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ในเรื่องนั้นๆ ได้ลึกซึ้งขึ้นและเกิดความสนุกสนาน ส่วนประเด็นในการพูดคุยนั้น ทั้งครูและนักเรียนสามารถช่วยกันกำหนดได้กว้างขวางตามความสนใจ ความจำเป็น และสอดคล้องกับประโยชน์ของนักเรียน ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของการจัดโฮมรูม
ยกตัวอย่าง เช่น ทักษะในการเรียน การค้นหาตนเองและตั้งเป้าหมายของชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและบุคคลอื่นในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างเพศ การแก้ไขปัญหา สุขอนามัย การออกกำลังกายและกีฬา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โทษและวิธีป้องกันตัวเองจากยาเสพติด อาชีพและการประกอบอาชีพ วิธีการสมัครงาน การเตรียมตัวสอบเรียนต่อ งานบริการสังคม การก่อความรุนแรงของเด็ก และอื่นๆ
โฮ มรูมของนักเรียนชั้นมัธยมต้นเกรด 7 ถึงเกรด 8 ของโรงเรียนเมวิลล์ (Mayville School) มีครูที่ปรึกษาโฮมรูมระดับชั้นละประมาณ 5 คน นักเรียนแต่ละชั้นจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ 10-15 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูมกับครูที่ปรึกษาประจำกลุ่มละ 1 คน โดยนักเรียนที่เข้าเรียนเกรด 7 จะยังคงร่วมกิจกรรมโฮมรูมในกลุ่มเดิมจนกว่าจะจบเกรด 8
ครูที่ปรึกษาโฮ มรูมแต่ละกลุ่มจะคอยให้คำปรึกษาแก่เด็กในเรื่องหลักๆ คือ วิชาการ ทักษะทางสังคม และการบริการชุมชน นอกจากนี้ครูโฮมรูมยังทำหน้าที่เชื่อมโยงบ้านและโรงเรียนให้ใกล้ชิดและทำงาน ดูแลพัฒนาเด็กร่วมกันมากขึ้น โดยครูที่ปรึกษาประจำโฮมรูมเป็นผู้จัดและวางแผนกิจกรรมทั้งหมดภายใต้กรอบ หลักสูตรของแต่ละระดับชั้นซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยครูผู้สอนประจำสายชั้นที่มี ความรู้และเข้าใจปัจจัยจำเป็นในการพัฒนาเด็ก ทำให้ครูประจำโฮมรูมสามารถวางแผนกิจกรรมเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาของเด็กได้ตรง เป้ามากขึ้น
ส่วนกิจกรรมโฮมรูมในหลักสูตรของ ร.ร.วิลเม็ต ตั้งแต่เกรด 5 –8 ถูกจัดขึ้นเพื่อเน้นปลูกฝังคุณลักษณะที่สำคัญ เช่น ความเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกัน ความรับผิดชอบ ความมีเมตตา ความอดทน ให้กับนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่น อีกทั้งมุ่งแก้ไขปัญหาของนักเรียน เช่น กรใช้ความรุนแรงในเด็ก(Bullying and Teasing) ยาเสพติด เป็นต้น
ตัวอย่าง กิจกรรมโฮมรูมของเด็กเกรด 5-8 ในหลักสูตรของ ร.ร.วิลเม็ต
- โฮมรูมปฐมนิเทศ เช่น การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ การทำความคุ้นเคยกับครูและเพื่อนร่วมชั้นตลอดจนตารางเรียนและกิจกรรม
- ความช่วยเหลือทางวิชาการ เช่น การกำหนดเป้าหมายของการเรียนและชีวิต ทักษะในการเรียน การจัดการและแบ่งสรรเวลา
- ความสำนึกต่อโรงเรียน รู้จักช่วยงานและกิจกรรมภายในโรงเรียน
- ทักษะและความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร ความเชื่อมั่นในตนเอง และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
- การบริการสังคมและชุมชน คุณค่าในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน ปฏิบัติงานบริการสังคม ระดมทุนเพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน
ไม่เพียงแค่กิจกรรมภายในกลุ่มย่อยเท่านั้น แต่ครูที่ปรึกษาประจำโฮมรูมในหลายโรงเรียนยังจัดกิจกรรมการพบปะระหว่างกลุ่ม โฮมรูมเพื่อให้ตัวแทนนักเรียนของแต่ละกลุ่มได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บอกเล่าถึงกิจกรรมในโฮมรูมของตน และแสดงความสามารถในหลายรูปแบบ ตลอดจนมีการให้รางวัลและประกาศเกียติคุณแก่นักเรียนที่ทำได้ดีบรรลุวัตถุ ประสงค์ของกิจกรรมด้วย
จากประโยชน์และผล สัมฤทธิ์ในการจัดกิจกรรมโฮมรูมของตัวอย่างโรงเรียนข้างต้น จึงเป็นเหตุเพียงพอว่าทำไมโรงเรียนควรจัดโฮมรูม อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงเรียนในบ้านเราพบว่าส่วนหนึ่งมีการจัดกิจกรรมโฮมรูมเพื่อช่วยพัฒนา และแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน แต่ดูเหมือนว่าจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำจริงจังเป็นประจำ ส่งผลให้ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร
น.ส.มาลินี ชวาลไพบูลย์ หัวหน้าระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ร.ร.หอวัง กทม. ซึ่งมีการจัดกิจกรรมโฮม รูมอย่างต่อเนื่องเป็นระบบนับตั้งแต่โรงเรียนได้เข้าร่วมในโครงการพัฒนา คุณภาพโรงเรียนของสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ (สวร.) ที่มี นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ เป็นผู้อำนวยการ และประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจให้ข้อเสนอแนะว่า โรงเรียนทุกแห่งควรจัดกิจกรรมโฮมรูมให้กับเด็กอย่างสม่ำเสมอเพราะเป็น กิจกรรมในระบบการช่วยเหลือดูแลที่จะเป็นประโยชน์กับเด็กค่อนข้างมาก และควรจัดพร้อมกันทั้งโรงเรียนเพื่อป้องกันการลักลั่น
“อย่าง น้อยจะทำให้นักเรียนโดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดใหญ่ได้พบพูดคุยกับครูที่ปรึกษา ขณะที่ครูเองจะได้รับรู้ปัญหา ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ และความต้องการของเด็ก เพื่อนำไปปรับปรุงงานให้เกิดประโยชน์กับเด็กมากขึ้น” น.ส. มาลินีกล่าว
แม้ครูไทยจะมีปัญหาภาระงานหนักในแต่ละวันทั้งงานสอนที่เต็มเหยียดตามตาราง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น กอปรกับภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมายจนแทบจะหาเวลาว่างไม่ได้ กระนั้นก็ตาม ถ้าผู้บริหารและครูตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการจัดกิจกรรมโฮมรูม ก็น่าจะลองเบียดเวลาวิชาใดวิชาหนึ่งในช่วงเช้าของบางวันสัก 10-20 นาที หรืออาจลองแบ่งเวลาจากกิจกรรมอื่นมาทำกิจกรรมโฮมรูมดูบ้างเพื่อประโยชน์ของ นักเรียน
|