ผ่านมาแล้วผ่านไป
เรื่อง ...นพ.เทอดศักดิ์ เดชคง
พฤษภาคม 2551
ผ่านมาแล้วผ่านไป
มีคำกล่าวว่าทฤษฏีสัมพัทธภาพของอัลเบิร์ต ไอสไตน์ นั้นเป็นจริงอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความทุกข์และความสุขแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังพักร้อนอย่างมีความสุข หรือ ทานอาหารกับหวานใจก็จะรู้สึกว่า เวลานั้นช่างผ่านไปเร็วเหลือเกินเทียบกับวันเวลาที่ต้องเข้าประชุม ต้องแก้ปัญหาหรือเมื่ออยู่ต่อหน้าคนที่ไม่ชอบกันเหล่านี้ เวลาน่าจะเดินช้าลงจนรู้สึกรำคาญเอาได้ นี่คือเวลาที่สัมพัทธ์กันนั่นเอง
คุณสันติ พนักงานอาวุโสของพนักงานการเงินแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขามีหัวหน้าที่ออกจะเจ้าอารมณ์เอาแต่ใจตนเองและแบ่งพรรคแบ่งพวก (ที่แย่ก็คือเขาไม่ใช่พวกนั่นเอง) เรื่องนี้สร้างความตึงเครียดในงาน แม้กระทั่งการจะขอลาพักร้อน ก็อาจเกิดความยุ่งยากขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ใช่แล้วครับเรื่องบางเรื่องมันก็ไม่สามารถเลือกได้มากนัก ยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ เราก็ต้องรักษางานเอาไว้ เป็นธรรมดา การจะเปลี่ยนงาน เพื่อหลบหนีปัญหาจากคนอื่นน่าจะเป็นทางออกท้ายสุดที่ควรเลือก
แต่เราควรทำใจอย่างไรให้ทำงานต่อไปได้อย่างมีความสุขตามสมควร ?
ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ผมได้มีโอกาสไปบรรยายที่หน่วยงานอิสระแห่งหนึ่ง โดยเป็นการอบรมแก่พนักงานอาวุโสของหน่วยงานแห่งนั้น ที่น่าสนใจก็คือคำถามที่ว่า
“มีใครอยากมาทำงานบ้าง” นั้น พวกเขาตอบกันประมาณสิบเปอร์เซ็นต์แน่นอนตัวเลขนี้น่าจะน้อยลงไปอีกเมื่อให้ ลูกน้องของคนเหล่านี้เป็นผู้ตอบ
กับคำถามต่อมาว่า “ใครชอบหัวหน้าของตนเองบ้าง” ก็พบว่าคำตอบที่ได้นั้นใกล้เคียงกับคำถามแรกเป็นอย่างยิ่ง
มีคนยกมืออยู่ 4 – 5 คน เท่านั้นจากจำนวนทั้งหมดราว ๆ 40 คน
หากพูดถึงเรื่องงานมันเป็นเรื่องยากที่คนเราจะได้ทำงานที่ตนเองชอบ เรามักพบว่าตนเองต้องฝึกที่จะรักงานที่ทำ มากกว่าจะได้ทำงานที่ตนรักเสียเป็นส่วนใหญ่
แล้วคำถามที่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำงานอย่างมีความสุข ทำอย่างไรชีวิตจึงจะมีความสุข จะหาคำตอบได้จากที่ไหน
ก็ได้จากคนที่มีความสุขยังไงล่ะ (ตอบง่ายนะ)
คุณสันติ เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนเขาเองเครียดกับเรื่องหัวหน้ามากจนกลายเป็นโรคเครียด เริ่มจะนอนไม่หลับ เบื่อหน่ายกับชีวิต แต่ปัจจุบันเขาสามารถทำใจได้มากแล้ว ผมเข้าใจเรื่องนี้ดีเพราะรู้ว่าคุณสันตินั้นเขาต้องกินยาคลายเครียดและยา ต้านเศร้า เป็นประจำเพื่อรักษาอาการต่างๆรวมทั้งประคับประคองให้เขาทำงานได้ดีดังเดิม
การใช้ยาดังกล่าวเมื่อควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดก็จะทำให้ภูมิต้านทานในจิตใจนั้นเพิ่มมากขึ้น
คุณสันติเล่าว่าเขามีเพื่อนร่วมงานอยู่คนหนึ่งซึ่งก็ “ไม่ใช่พวก” ของหัวหน้า เช่นเดียวกัน และก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์งาน รวมทั้งได้รับงานที่ยุ่งยากอยู่เสมอๆ แต่แม้จะมีความทุกข์กับงานเหล่านี้ คุณ “ณี” เพื่อนร่วมงานคนนี้ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้ ก็ด้วยเหตุผลว่าเธอมี “เพื่อนร่วมทุกข์” อยู่หลายคน เธอไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหานี้
ใช่แล้วครับ หากเรารู้ว่าปัญหาของตน (ความล้มเหลว การสูญเสีย ปัญหาต่างๆ) นั้นมิใช่เรื่องเฉพาะตัว ตรงกันข้ามเราต่างก็มีเพื่อนร่วมโลก ซึ่งมีความทุกข์เหมือนกับเรา หรือแม้แต่มากกว่าเรา เราก็จะรู้สึกดีขึ้นมีความอดทนมากขึ้นได้
วิธีคิดต่อมานั้นสำคัญมากก็คือการมองว่า เรื่องราวความทุกข์ต่าง ๆ นั้นล้วนผ่านมาแล้วผ่านไป
ที่ จริงก็ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทุกข์ หรือปัญหาเท่านั้นหรอกที่ผ่านมาแล้วผ่านไป เรื่องความสุขเสียอีกที่ชัดเจนว่า เมื่อมาแล้วจะต้องผ่านไปในไม่ช้า
เรื่องผ่านมาแล้วผ่านไปในกรณีของคุณณี นั้น หากมองประเด็นของหัวหน้าว่า “มา” แล้วก็ไป ก็นับว่าถูกต้อง แต่อาจช้า คือใช้เวลาหลายปี แต่สำหรับการมองงานหรือความยุ่งยากนั้นว่า ผ่านมาแล้วผ่านไปได้ก็จะรู้สึกเร็วกว่ากันมาก
งาน ล่าสุดที่เธอได้รับคือการจัดนิทรรศการที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั้นทำให้เธอเบื่อมากแต่เธอก็บอกว่า เวลาอันยุ่งยากนั้นจะผ่านไปได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตามการมองว่าผ่านมาแล้วผ่านไปนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องงอมืองอเท้า รอให้มันผ่านไป แต่เราควร “ทำอะไรบางอย่าง” เพื่อประคองตนเอง ผ่อนหนักเป็นเบาหรือแม้กระทั่งแก้ไขสถานการณ์ก็ด้วย
เราคงไม่ได้รอให้ปัญหาจากงานหรือคนนั้นดีขึ้นเอง แต่เราควรป้องกันแก้ไขปัญหาหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปด้วย
นั้นก็หมายความว่าแม้ว่าเราจะเจอกับปัญหากับคนกับงานก็ตามเราควรทำอะไร บางอย่าง (ผมชอบเรียกว่า เทคแอคชั่น) ดังเรื่องที่คุณณี พยายามวางแผนทำงานเป็นเรื่องดี แม้ว่าจะถูกมองว่ายังทุ่มเทได้ไม่เพียงพอ
การเทคแอคชั่น เป็นไปเพื่อสร้างความสมดุลของการรอคอยให้ปัญหาหรือความทุกข์ผ่านไปนั้นเอง
การ ทำอะไรบางอย่างนี้ อาจเป็นการทำงานอย่างเต็มที่โดยเปลี่ยนเป้าหมาย จากเดิมเป็นการได้รับความชื่นชมหรือได้ 2 ขั้น กลายมาเป็นการได้เรียนรู้ได้ประสบการณ์ก็ได้
ระหว่างที่ รอคอยให้ปัญหานั้นเบาบางลงหรือได้รับการแก้ไข คุณก็อาจถือโอกาสเข้าวัดทำบุญปฏิบัติธรรม (เรียกว่าเป็น แอคชั่นแบบสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง)
หลักทั้ง 3 ข้อ คือ
การมองว่า ปัญหานี้ มิใช่ มีเพียงเรา
การมองว่าปัญหานั้นผ่านมาแล้ว จะต้องผ่านไป
การทำอะไรบางอย่างเพื่อบรรเทาเบาบางปัญหา
จัด ว่าเป็นหลักสำคัญ3 ข้อ ที่ทำให้คนเราผ่านพ้นความทุกข์ไปได้ ใครที่มีความทุกข์ซึ่งเลือกไม่ได้ อาจต้องลองใช้หลัก 3 ข้อ ซึ่งผู้บรรลุธรรม (ในชีวิตประจำวัน) ได้เห็นพ้องต้องกันแบบนี้ดูบ้างครับ