ไปดูดรงเรียนดีที่ปักกิ่ง
การปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูปการศึกษา และสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ด้วย เป็นภารกิจที่ครูผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องถือปฏิบัติให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน จึงเกิดเป็นโรงเรียนประเภทต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา เช่น โรงเรียนในฝัน หรือโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่บ้านเรานำมาใช้นานหลายปี ก่อนหน้านั้นก็เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เพราะเราขาดแคลนโรงเรียนที่จะบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ แก่ประชาชน ขาดบุคลากรที่จะสั่งสอนเด็ก ๆ โดยเฉพาะในชนบท แล้วขยายมาเรียนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
วันที่เรามาถึง ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ เป็นวันเริ่มฤดูหนาว ของปักกิ่งเพียงไม่กี่ชั่วโมง (กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน) เพราะสัมผัสได้ตอนที่เราอยู่บนเครื่องบิน เครื่องกำลังจะลง(ขณะที่ทุกคนเกือบจะไม่หายใจ) พระอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าแล้ว หลังจากใช้เวลาบนเครื่องบินของสายการบินอียิปต์แอร์เกือบ ๕ ชั่วโมง ออกมาสัมผัสอากาศที่เย็นจัด นอกสนามบิน Capital Airport (ลบ ๒ องศาเซลเซียส) อาคารต้อนรับผู้โดยสารที่ยิ่งใหญ่ของจีน เราต้องขึ้นรถไฟฟ้า ออกมารับกระเป๋าอีกสถานีหนึ่งร่วม ๓ กิโลเมตร แล้วต้องนั่งรถบัสเข้าไปปักกิ่งอีกกว่า ๓๐ นาที บนรถเราไม่รู้สึกว่าหนาว เพราะมีเครื่อง Heater แต่ข้างนอกต้นไม้ที่เรามองเห็นยืนรับสภาพความแห้งแล้งโดยปราศจากใบ คงเหลือเพียงกิ่งก้าน หรือนี่อาจเป็นที่มาของปัก...กิ่ง
รุ่งเช้าอากาศที่หน้าโรแรม Best Western Premier Beijing Hotel หนาวเย็นจนไม่อยากไปไหน อยากนอนกอดผ้าห่มในห้องมากกว่า แต่ด้วยความเสียดายโอกาสที่มาดูงานแล้วต้องไปดูให้เห็นกับตา ให้สมกับที่จ่ายค่าเครื่องบินมาไกล หลายพันกิโลเมตร
โรงเรียน Chuiyangliu (ฉวยหยังเหลี่ยว) ที่คณะเราได้ไปศึกษาดูงานเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ นั้น เป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่ไม่มากตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง มีนักเรียนพันกว่าคน วันที่ไปดูอากาศหนาวมาก ท่ามกลางความหนาวเย็นของอากาศ เพราะอุณหภูมิภายในรถ ๗ องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิภายนอกติดลบ ๒-๕ องศาเซลเซียส หมอกลงจัดรถของคณะเรา ต้องจอดไว้ปากซอยแล้วเดินเข้าไปในโรงเรียนได้ สองข้างทางชาวปักกิ่ง เริ่มหาพลาสติกมาห่อหุ้มต้นไม้กันแล้ว เพื่อป้องกันหิมะที่จะมาทำลายต้นไม้
ถ้าไม่มีคนพาไปอาจคิดว่าไม่ใช่โรงเรียน เพราะโรงเรียนที่บ้านเราจะมีสัญลักษณ์ คือ เสียงมาก่อน หรือไม่ก็มีเด็กออกมาวิ่งเล่นที่สนาม หรือระเบียงอาคาร หรือมีครูออกมายืนเรียงแถวสลอนรอต้อนรับ หรือไม่ก็มีกาแฟมาเสิร์ฟคณะไปดูงาน หรือมีรถมอเตอร์ไซด์ของนักเรียนมาจอดข้างอาคาร แต่ที่นี่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา อาคารเรียนเขาสร้างโดยที่ไม่ต้องมีระเบียง (เพราะอากาศหนาว คงไม่มีใครอยากออกมาข้างนอกกันหรอก) เด็กเรียนรู้ภายในห้องทำกิจกรรมกับคุณครู เด็กชายเหลาหยู่ชิง กับเพื่อนสนุกมากที่มีชาวต่างชาติไปดูเขาเรียน ดูเขาไม่กลัวแขกกันสักเท่าไหร่ ที่พวกเราไปกอดหรือไปขอถ่ายรูปกับเขา
ห้องเรียนที่จัดให้เด็ก สมกับที่เขาต้องการปฏิรูปการศึกษาจริง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกแก่ครูผู้สอน สื่อที่ใช้สอนเด็กเขาจัดมาสนับสนุนครู เช่น ชุดคอมพิวเตอร์จอยักษ์ กระดานไร้ฝุ่นจริง ๆ ครูที่มาดูแลเด็ก เขาจัดหามาสนับสนุน คณะที่เขามาต้อนรับก็ทำแบบเป็นกันเอง บรรยายสรุป ฉายวีดิทัศน์ ซึ่งเขาทำได้ดีทีเดียว ห้องประชุมตกแต่งสวยงาม ห้องแสดงผลงานของครูที่ผ่านการประกวดสื่อ ผลงานนักเรียน ถูกจัดไว้เป็นสัดส่วน
จุดเน้นที่โรงเรียนทำคือ พัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ด้วยตนเอง ถ้าเป็นภาษาบ้านเราคงจะเรียกว่า “การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ด้วยการให้สิ่งที่จะเรียนรู้ไปศึกษาก่อน แล้วนำมาพบครูในสิ่งที่เรียนรู้และมีปัญหา เน้นการปฏิบัติงานด้วยตนเอง หากมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นกับเด็กจะได้รับการชมเชย ที่ขาดไม่ได้คือการจดบันทึกของเด็ก และกิจกรรมที่เขาเน้นอีกประการคือ ๓ อย่างใน ๑๐ นาที คือ อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย และพูดคุยกับพ่อแม่ วันละ ๑๐ นาที หรือมากกว่านั้นยิ่งดี เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว
วิชาที่เปิดสอนก็มีวิชาบังคับโดยรัฐคล้ายกับบ้านเรา มีวิชาท้องถิ่นหรือวิชาที่โรงเรียนจัดหาเองก็มี การเรียนการสอนที่ครูใช้ เช่น การนำนิทานเป็นสื่อการสอน เป็นต้น
สนามกีฬาที่ไม่ได้เน้นหนักด้านขนาด แต่ปรับตามสภาพพื้นที่ที่มีอยู่ แต่ผ่านระบบการบริหารจัดการด้วยการปูพื้นพลาสติก จัดทำลู่วิ่งให้เด็กได้วิ่งเล่น ประดับด้วยดอกลำโพงที่พร้อมจะทำงานเมื่อต้องการ มีเพื่อนในกลุ่มถามเหมือนกันว่า บ้านเขามีเปี๊ยะเจียะเหมือนบ้านเราหรือเปล่า เขาเล่าว่า ถึงเขาจะเป็นสังคมแบบคอมมิวนิสต์ ก็ยากที่จะปฏิเสธ แต่ต้องจ่ายแพงหน่อย (เหมือนบางประเทศเลย) โรงเรียนดีใคร ๆ ก็อยากให้ลูกตัวเอง(ที่มีเพียงคนเดียว) ไปเรียนแม้จะต้องจ่ายแพงกว่า โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงแบบปักกิ่ง โอกาสทางการศึกษาที่จะได้เข้าศึกษาในสถาบันที่สูงขึ้นไป เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ย่อมมีมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียนชนบท นี่ก็คล้ายบางประเทศเหมือนกัน
ต้นไม้ ใบหญ้าที่นี่น่าสงสารมา เดินเฉียดเข้าไปใกล้ไม่ได้ เพราะมันกรอบจากความหนาวเย็น บางแห่งมีน้ำแข็งเกาะ(เดิมคงเป็นน้ำขัง) สงสารแต่ยุงที่ไม่มีโอกาสมาเติบโตที่นี่
ไกด์ที่ชื่ออาหยาง บอกว่าที่ปักกิ่งจะนิยมส่งลูกมาเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน มีรถรับส่งแสนสบาย ก็ไม่รู้ว่าเขาโม้หรือเปล่า เพราะเราไม่มีโอกาสอยู่รอจนเด็กกลับบ้าน
แต่สิ่งที่เราสังเกตจากการบอกเล่า ก็คือ ความมุ่งมั่นของคนจีนที่จะเอาชนะ หรือทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า หรือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เนื่องในโอกาสวันสำคัญ เช่น การก่อสร้างตึก CCTV การก่อสร้างสนามบิน Capital Airport เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก การก่อสร้างสนามกีฬารังนก (Bird Net) ตึกหมีเซียะ (ตึกรูปหัวมังกร) หรือแม้แต่การสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ช่วงบ่ายคณะเราได้ไปเยี่ยมชมจัตุรัสเทียนอันเหมิน และพระราชวังกู้กง หรือพระราชวังต้องห้าม ไม่รู้ว่าไกด์แกล้งเราหรือเปล่าที่พาเราเดินตั้ง ๔.๕ กิโลเมตร จากหน้าอาคารรัฐสภาจัตุรัสเทียนอันเหมิน จนถึงหลังพระราชวัง ฯ
วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ มีโอกาสไปศึกษาดูงานในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยในฝันของเด็กจีนทุกคน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จมาศึกษาต่อที่นี่ เมื่อหลายปีก่อน ช่วงที่คณะเราไปกำลังก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ แด่พระองค์ท่านยังไม่แล้วเสร็จ เพราะพระองค์ทรงนำร่อง ในการเปิดความสัมพันธ์ทางด้านการศึกษากับสถาบันที่นี่ แนวคิดของมหาวิทยาลัยคือ “คนที่มาเรียน เป็นการเพิ่มความสามารถของตนเอง” การเรียนการสอนไม่แยกว่า จะจบสาขามาจากสายวิทยาศาสตร์ สายศิลป์ สามารถเลือกเรียนสาขาวิชาที่ตนเองสนใจได้ทั้งนั้น การใช้ชีวิตในการเรียน จะเน้นการพึ่งตนเองทางด้านการเรียน ซึ่งผู้นำของจีนส่วนใหญ่จบจากที่นี่
พาหนะที่ใช้เป็นจักรยาน ไม่มีร่องรอยของรถจักรยานยนต์ ที่คนไทยคุยนักคุยหนาว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความเร็ว ให้เห็นแม้แต่คันเดียว แล้วนักศึกษาจีน ก็เรียนจบไปเป็นบุคลากรพัฒนาชาติของเขาได้โดยไม่อายใครด้วย
ก่อนหน้านี้ช่วงเช้าของวันที่ ๒๔ ธันวาคม อากาศวันนี้ก็ติดลบ ๒-๕ องศา แต่บนรถศูนย์องศาเซลเซียส ไกด์นำเราไปชมรีสอร์ท หรือพระราชวังฤดูร้อนของพระนางซูสีไทเฮา ที่นับว่าเป็นมรดกโลกอีกแห่งของปักกิ่ง ซึ่งมีพื้นที่กว่า ๓,๙๐๐ ไร่ เป็นอุทยานที่ใหญ่ที่สุดของปักกิ่ง ๔ ใน ๕ เป็นพื้นที่ของทะเลสาบเทียนสิน (จำลอง) ขณะที่พื้นดินกว่า ๘๐ % เป็นภูเขาที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ จากการนำดินที่ขุดเป็นทะเลสาบมาสร้างไว้เมื่อกว่า ๒๐๐ ปีผ่านมา โดยจักรพรรดิเฉียนหลง ต่อมาเมื่อเกิดสงครามฝิ่นกับอังกฤษ อุทยานแห่งนี้จึงถูกเผา และพระนางซูสีไทเฮา จึงนำเงินที่ควรจะสร้างกองทัพเรือ มาสร้างเป็นพระราชวังฤดูร้อนแทน ที่ต่อมาสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นที่คุมขังกวางสูฮ่องเต้กว่า ๑๐ ปี ที่พวกเราไปดูแล้วฮ่องเต้น่าจะปีนกำแพงหนีออกมาได้ ถ้าใช้กำลังภายในสักหน่อย ซึ่งตำนานของพระนางซูสีฯ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเธอไม่ใช่คนธรรมดาที่สามารถสร้างฮ่องเต้ได้หลายองค์ที่เดียว รวมทั้ง จักรพรรดิองค์สุดท้ายอันลือลั่นในหนังที่สร้างเมื่อหลายปีก่อน
ขากลับโรงแรมตอนเย็นรถติดมาก เพราะเป็นวันก่อนวันคริสมาสต์ เราก็นึกว่าบ้าประเพณีฝรั่งเฉพาะคนไทย ที่ไหนได้คนจีนคลั่งวันคริสมาสต์กว่าเราเสียอีก
สิ่งหนึ่งที่คนไทยน่าจะจดจำและนำมาเป็นแบบอย่าง คือ การที่เราไปชมสถานที่สำคัญ เช่น กำแพงเมืองจีน สุสาน ๑๓ กษัตริย์ หรือหอฟ้าเทียนถาน (หอบวงสรวงสวรรค์ของฮ่องเต้) นอกจากเป็นสถานที่ที่ล้วนแล้วแต่สร้างความตื่นตาตื่นเต้นให้ผู้ไปชมเป็นอย่างยิ่งแล้ว การไม่ปล่อยให้เวลาที่ว่างเปล่าหลุดลอยไปเฉย ๆ เขาต้องพาเราไปใช้เงินตามสถานที่ที่รัฐกำหนด เช่น ไปชมโรงงานทำหยก ก่อนขึ้นไปชมกำแพงเมืองจีน ไปดูกรรมวิธีการผลิตผ้าห่มไหม การผลิตครีมไข่มุกน้ำจืด การผลิตบัวหิมะ โรงงานสมุนไพร ร้านชงชาแบบจีน ที่ล้วนแล้วแต่มีระบบการนำเสนอข้อมูล ก่อนที่จะนำเสนอสินค้าแก่คณะเรา ที่พวกเราต้องอึ้งในความสามารถของคนจีน การพูดไทยได้ สื่อสารกับเราได้ ทำให้คณะเราอดที่จะซื้อสินค้าของเขาไม่ได้ สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศทางตรงอีกด้วย บ้านเราไม่รู้ว่ามีระบบการบริหารจัดการเหมือนเขาหรือเปล่า พวกเราก็เพียงแต่โสกันเล่น ๆ เท่านั้นเอง ไม่ได้หวังว่าจะให้ใครนำไปปรับปรุง หรือแก้ไขหรอกนะ.