วิจัยเรื่อง การศึกษาผลการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยใช้สีน้ำประกอบคำถามปลายเปิดใน
ระดับชั้นอนุบาล 1 / 2 โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ)
ผู้วิจัย นางกิ่งแก้ว ใหม่สุวรรณ
สถานที่ติดต่อ โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ) จังหวัดปราจีนบุรี
ปีที่ทำวิจัย ปีการศึกษา 2550
ประเภทของงานวิจัย ทดลอง
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เป็นสื่อที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของมนุษย์และความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถที่สำคัญของมนุษย์ให้มีคุณภาพมากกว่าด้านอื่นๆ และเป็นปัจจัยที่สำคัญส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศ (อารี พันธุ์มณี 2540 : บทนำ) กล่าวว่า ผลจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ก่อให้เกิดนวัตกรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆมากมายและค้นพบการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ การคมนาคม และสิ่งแปลกใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์ รวมทั้งประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือต่างๆให้ก้าวหน้าและทันสมัยอยู่เสมอ ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อลักษณะการคิดที่มีคุณค่าต่อสังคมอย่างมาก
จากสภาพของนักเรียนชั้นอนุบาล 1 /1 ปีการศึกษา 2550 ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ) นักเรียนในชั้นเรียนมีจำนวน 29 คน จำแนกเป็นชาย 13 คน และหญิง 16 คน ภายหลังจากการได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนมา จากการสังเกตพบว่า นักเรียนบางคน ขาดความมั่นในในตนเอง ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าแสดงออก ชอบเลียนแบบผู้อื่น ไม่รู้จักการแบ่งปัน ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น จากปัญหาที่พบ เด็กขาดความมั่นในในตนเอง ปรับตัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ครูจึงนำกิจกรรมสร้างสรรค์โดยใช้สีน้ำเข้ามาปรับพฤติกรรมของเด็ก โดยใช้คำถามปลายเปิด
แนวคิดหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาของอนงค์ แสงเงิน (2533 : 60-70) พบว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์ การเล่นสร้างสรรค์ประกอบการใช้คำถาม มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่า เด็กที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นสร้างสรรค์แบบไม่ใช้คำถาม
ผลการศึกษาของ พัชรีภรณ์ จ้อยจุมพจน์ (2533 : 64-67) กล่าวว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยได้รับการสอนโดยใช้คำถามขยายความคิดจะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้คำถามและจะสามารถร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นได้
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อสร้างชุดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยใช้สีน้ำประกอบคำถามปลายเปิดในชั้นอนุบาล 1 /1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ)
2. เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยใช้สีน้ำประกอบคำถามปลายเปิดในระดับชั้นอนุบาล 1 /1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ)
สมมติฐานการวิจัย
นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยใช้สีน้ำและคำถามปลายเปิดจะมีพฤติกรรมการแสดงความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้น
วิธีดำเนินการวิจัย
ในการจัดกิจกรรม 6 กิจกรรมในระดับชั้นอนุบาล 1 /1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ) ตามตารางกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ เด็กจะได้ปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์ตามความสนใจโดยครูจัดเตรียมอุปกรณ์ให้นักเรียนปฏิบัติ ตามข้อตกลงร่วมกันก่อนปฏิบัติกิจกรรม
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1 /1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ) ภาคเรียนที่ 1 / 2550 จำนวน 29 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
นวัตกรรม ได้แก่ กิจกรรมสร้างสรรค์การใช้สีน้ำประกอบคำถามปลายเปิด จำนวน 8 กิจกรรม
1. กิจกรรมสร้างสรรค์ การพับสี
2. กิจกรรมสร้างสรรค์ การเป่าสี
3. กิจกรรมสร้างสรรค์ การกลิ้งสี
4. กิจกรรมสร้างสรรค์ การดีดสี
5. กิจกรรมสร้างสรรค์ การหยดสี
6. กิจกรรมสร้างสรรค์ การระบายสีหุ่นปูนปลาสเตอร์
7. กิจกรรมสร้างสรรค์ การพิมพ์ภาพ
8. กิจกรรมสร้างสรรค์ การละเลงสีเป็นภาพโดยอิสระ
การเก็บรวบรวมข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
ค.1 แบบบันทึกการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์
ค.2 ชิ้นงานคำพูดและการเล่าเรื่อง
ค.3 แบบบันทึกพฤติกรรมก่อนและหลังการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สีน้ำประกอบคำถามปลายเปิด ตั้งแต่เดือน มิถุนายน – เดือน กันยายน 2550
การวิเคราะห์ข้อมูล
ในการวิเคราะห์ข้อมูลดูจากการรวบรวมเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล โดยมีเกณฑ์ในการประเมินผล คือ
ดี หมายถึง การปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์พร้อมตอบคำถามปลายเปิดโดยไม่ต้องกระตุ้น
ปานกลาง หมายถึง การปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์พร้อมตอบคำถามปลายเปิดโดยให้ครูกระตุ้นคำถาม
ปรับปรุง หมายถึง การปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์แต่ไม่ตอบคำถามและปฏิบัติไม่เสร็จตามข้อตกลง
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
จากการบันทึกการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ชิ้นงานที่บันทึกคำพูดและแบบบันทึกพฤติกรรมก่อนและหลังการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ในเดือน มิถุนายน – เดือนกันยายน 2550 ตามเกณฑ์การประเมิน วิเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ดังนี้
ในช่วงเดือนมิถุนายน นักเรียนสามารถปฏิบัติกิจกรมสร้างสรรค์แต่ไม่ตอบคำถามและไม่เสร็จตามข้อตกลง อยู่ในเกณฑ์ปรับปรุงคิดเป็นร้อยละ 90
ในเดือนกรกฎาคม นักเรียนเริ่มตอบคำถามบ้างโดยครูต้องกระตุ้นคำถาม สามารถรู้จักเก็บอุปกรณ์เข้าที่ได้ มีความมั่นใจในชิ้นงานของตนเองมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ปานกลางคิดเป็นร้อยละ 40
ในเดือนสิงหาคม นักเรียนเริ่มมีพฤติกรรมดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจ รู้จักการรอคอย แบ่งปันของใช้ร่วมกับเพื่อน กล้าแสดงความคิดเห็น มีความคิดสร้างสรรค์ อยู่ในเกณฑ์ปานกลางคิดเป็นร้อยละ 60
ในเดือนกันยายน นักเรียนเริ่มมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น กล้าคิดกล้าตอบคำถาม มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ สามารถถ่ายทอดผลงานตนเองให้ผู้อื่นรับรู้พร้อมตอบคำถามตามความคิดจินตนาการของตนเองโดยครูไม่ต้องกระตุ้น คิดเป็นร้อยละ 70
สรุปและอภิปรายผลการวิจัย
ผลการปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์โดยใช้สีน้ำประกอบคำถามปลายเปิดของนักเรียนชั้นอนุบาล 1 /1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (อุดมวิทย์สมใจ) ได้ปรับพฤติกรรมได้ดีขึ้น ในด้านการใช้คำพูด โต้ตอบกับเพื่อน การแสดงความคิดสร้างสรรค์ การพูดแสดงผลงานของตนเอง มีการโต้ตอบกับเพื่อนในการทำกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยใช้สีน้ำประกอบคำถามปลายเปิดจะช่วยให้นักเรียนมีความมั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออก มีมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเหมาะสมกับวัย ซึ่งจากผลการจัดกิจกรรมอยู่ในเกณฑ์ดีคิดเป็นร้อยละ 70 ที่ปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์พร้อมตอบคำถามปลายเปิดโดยไม่ต้องกระตุ้น และอยู่ในเกณฑ์ปานกลางคิดเป็นร้อยละ 30 ที่ปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์พร้อมตอบคำถามปลายเปิดโดยครูกระตุ้นคำถาม
ข้อเสนอแนะ
1. การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ครูสามารถนำกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน ในท้องถิ่นของตนเองมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอน
2. บรรยากาศในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัย ควรคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละบุคคลที่ชอบและปฏิบัติด้วยใจรัก จะสร้างคุณค่าทางปัญญาให้กับเด็กและสามารถผลิตสิ่งที่แปลกใหม่ได้
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. พัฒนาพฤติกรรมการกล้าแสดงออก และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เหมาะสมกับวัย
2. พัฒนาการทางภาษาสามารถพูดสนทนาโต้ตอบ มีความมั่นในในตนเอง
3. พัฒนาด้านสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น การช่วยเหลือแบ่งปันและการรอคอย
ผลกระทบ
1. การจัดกิจกรรมต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพผู้เรียนและความพร้อม
2. การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ไม่ควรนำผลงานไปเปรียบเทียบกันระหว่างบุคคลเพราะนักเรียนมีความคิดและจินตนาการที่แตกต่างกัน
รายการ/เอกสารอ้างอิง
กรมวิชาการ,กระทรวงศึกษาธิการ.ความคิดสร้างสรรค์.กรุงเทพ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว 2535.
อนงค์ แสงเงิน.พัฒนาเด็กด้วยศิลปะสร้างสรรค์.กรุงเทพ: แปลนพับลิชชิ่ง2533.
พัชรีภรณ์ จ้อยจุมพจน์.การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์.วารสารวิชาการ.2533.