นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ดร.สายสุรี จุติกุล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้กล่าวสรุปต่อที่ประชุมให้รับทราบถึงการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย จากนั้น ดร.เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวสรุปภารกิจของกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงวัฒนธรรม กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมสวัสดิการและคุ้มครองและงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ สภาการศึกษา
นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมโดยสรุปว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยจะเป็นการวางรากฐานอนาคตให้กับเด็กไทย สิ่งที่ต้องการเห็นก่อนเป็นลำดับแรกคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับและความเท่าเทียมกันของเด็ก ดังนั้นการเริ่มต้นที่จะพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงต้องการเห็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันในลักษณะวงจรชีวิต (Life Cycle) ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงคลอด ว่าเด็กจะต้องได้รับการรักษาขั้นพื้นฐานอย่างไรเพื่อให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่การรับวัคซีนต่างๆ การรับไอโอดีนเพื่อการพัฒนาสมอง การได้รับสารอาหารต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้เห็นขอบเขตของการทำงานพื้นฐานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมก่อน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้น ยังทำงานเป็นรายกระทรวงอยู่ จึงต้องการให้เลิกสวมหมวกกระทรวงก่อน โดยต้องการให้มองในมุมของเด็กจริงๆ ว่าเด็กตั้งแต่แรกเกิดมีความต้องการอะไรบ้าง ให้มองในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กคนหนึ่งที่ต้องการเห็นอนาคตของประเทศ เพื่อจะได้ทราบว่าเด็กต้องการอะไรบ้าง จะพัฒนาเด็กอย่างไรให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เมื่อเด็กทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจน ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันแล้ว จึงดำเนินการพัฒนาการที่ต่อยอดจากสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัยอย่างเต็มศักยภาพ โดยขอให้แต่ละกระทรวงไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนว่า เด็กคนหนึ่งควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรบ้าง จากนั้นจึงกลับมาดำเนินการเป็นแผนรวม
นายกรัฐมนตรี จึงได้ขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมหารือถึงรูปแบบของกรอบการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ชัดเจนร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นผู้ร่างรูปแบบ แล้วนำมาเสนอในที่ประชุมร่วมของกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบ เพื่อนำไปดำเนินการตามแผนต่อไป พร้อมทั้งย้ำว่าให้บุคลากรแต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบด้านการปฐมวัยเข้าร่วมประชุมเอง ไม่ควรส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/mar/085.html