นางสาวสาลิน วิรบุตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแจ้งว่าในวันที่ 26 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนหรือตรุษจีน จะเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ คือปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบวงแหวน เส้นทางการสังเกตเห็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน อยู่ในพื้นที่มหาสมุทรเป็นส่วนใหญ่ จากมหาสมุทรอินเดีย ตอนใต้ของทวีปแอฟริกามาทางตะวันออกแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพื้นที่ประเทศไทยอยู่ในเขตเงามัวจึงสังเกตเห็นเป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เป็นบางส่วนเห็นดวงอาทิตย์เป็นเสี้ยวเว้าแหว่งไป และเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
- เวลา เฉลี่ยที่เห็นปรากฏการณ์นี้ คิดจากกลางประเทศคือกรุงเทพฯ ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนเข้าบังดวงอาทิตย์ เวลาประมาณ 15.53 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์ประมาณ 17.58 น. ดวงอาทิตย์กำลังตกลับขอบฟ้า
- ด้านตะวันตกและทางใต้ของประเทศจะเห็นปรากฏการณ์ก่อน และสิ้นสุดก่อนด้านตะวันออก ตามเวลาโดยประมาณข้างต้นเล็กน้อย
- ส่วนที่ดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังค่าเฉลี่ยเกือบครึ่งดวง คือ ร้อยละ 45
- ภาคใต้จะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังมากกว่าภาคกลางและภาคเหนือแตกต่างกันเล็กน้อย
การจ้องมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง จึงต้องมองผ่านแผ่นกรองแสงพิเศษหรือใช้กล้องรูเข็มสังเกตปรากฏการณ์ และการสังเกตโดยอ้อม มองแสงที่ลอดออกมาใต้ร่มไม้ จะเห็นภาพดวงอาทิตย์เว้าแหว่งได้ หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ต้องใช้แผ่นกรองแสงพิเศษ ถ้าไม่มีแผ่นกรองแสงพิเศษ ให้สังเกตภาพดวงอาทิตย์ที่มาตกบนฉากรับภาพ ห้ามดูจากกล้องโดยตรง
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ให้บริการแก่ผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์และเรียนรู้จากปรากฏการณ์จริง ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ในวันที่ 26 มกราคม 2552 ตั้งแต่เวลา 15.30 น. จนสิ้นสุดปรากฏการณ์