หารือ ก.ค.ศ.ยกร่างเกณฑ์ประเมินโดยนำคะแนน O-NET มาเป็นส่วนประกอบ ความดีความชอบประจำปี+วิทยฐานะครู
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในทุกระดับชั้น ว่า รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้นำผลคะแนน O-NET มาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง โดยนักเรียนต้องมีความสนใจในการสอบอย่างต่อเนื่อง และครูต้องมีความรับผิดชอบต่อผลคะแนนด้วย เพราะที่ผ่านมาการสอบ O-NET จะจัดสอบเฉพาะช่วงชั้นในชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ซึ่งเป็นการสอบรวบยอด โดยผลคะแนนจะไม่ได้มีผลสะท้อนกลับมาที่ตัวครูทุกคน เช่น ครูผู้สอนในระดับประถมศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นครูประจำชั้นที่สอนทุกวิชา ซึ่งหากวัดผลเฉพาะ ป.6 ครูผู้สอน ชั้นป.4 และ ป.5 ก็จะไม่ได้รับการวัดผลด้วย เพราะไม่ได้มีการจัดสอบ O-NET ในชั้นป.4 และ ป.5 ดังนั้นการสอบในทุกระดับชั้นจะทำให้ครูทุกคนมีส่วนในการรับผิดชอบกับคะแนนที่ออกมา และจะทำให้คะแนนดีขึ้น
"รมว.ศึกษาธิการ พยายามดึงทั้ง 2 ส่วนให้มาเชื่อมต่อกันและพูดเสมอว่าต่อไป หากครูจัดการเรียนการสอนแล้วคะแนนเด็กออกมาดี ก็ควรจะได้รับการพิจารณาความดีความชอบประจำปี รวมถึงการประเมินวิทยฐานะด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ที่ต้องนำคะแนน O-NET มาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณา จากนั้นจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ต่อไป"
นายชินภัทร กล่าวและว่า หลังจากนี้ต้องมีการหารือกันว่าจะจูงใจให้เด็กทุกระดับชั้นสนใจสอบ O-NET ได้อย่างไร โดยเบื้องต้นมีแนวคิดที่จะให้คะแนนมีผลต่อการจบการศึกษาในระดับช่วงชั้น หรือ Exit Exam แต่คงต้องมาดูว่าจะให้มีผลต่อการจบในช่วงชั้นใด รวมถึงแนวทางที่จะให้เด็กสอบได้หลายครั้งคล้ายๆ กับการสอบโทเฟลเพื่อลดความกดดัน ซึ่งจะต้องจัดทำธนาคารข้อสอบ เพื่อเลือกข้อสอบที่มีมาตราฐานมาใช้ด้วย
ที่มา สยามรัฐ