ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ เมื่อวันพุธที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมเพื่อพิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของ ศธ.
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของ ศธ. (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๘) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
วิสัยทัศน์ จัดการศึกษาโดย "ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง" มุ่งกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมทั้งภาคเมืองและภาคชนบท พร้อมจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน การศึกษาจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ประชาชนที่เข้มแข็งและมีความรู้คือทุนที่มีพลังในการต่อสู้กับความยากจน
กรอบแนวคิด มุ่งพัฒนาการศึกษา ภายใต้กรอบแนวคิดหลักคุณภาพและความเท่าเทียม รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขยายโอกาสทางการศึกษา ๔ โอกาส คือ
๑) โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
๒) โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ขึ้นกับฐานะของผู้ปกครอง
๓) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนนักศึกษาทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง ผ่านการเรียนรู้บนฐานการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning)
๔) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยใช้เทคโนโลยี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ศูนย์วัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ
ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการศึกษา ๗ ยุทธศาสตร์
๑) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับทุกประเภท โดยมุ่งเน้นเป้าหมายคือ นักเรียนเป็นศูนย์กลาง - ชุดโครงการสำคัญ (Flagship) คือ จัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ปฏิรูปการศึกษาที่เน้นหลักสูตรการวิเคราะห์และมองภาพรวม-ยกเลิกการศึกษาแบบท่องจำ มีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศโดยเริ่มต้นที่ภาษาอังกฤษและจีน เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทุกระดับทุกประเภท จัดให้มีครูดีและครูสอนภาษาให้เพียงพอทุกห้องเรียน จัดให้โรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกันทั้งในเมืองและชนบท จัดให้มีสถาบันอาชีวศึกษาที่สามารถค้นหาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในทุกพื้นที่ พัฒนานักศึกษาอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาให้เป็นมืออาชีพที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล การพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม ปรับปรุงโครงสร้างระบบบริหารการศึกษา และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
๒) การสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม - ชุดโครงการสำคัญ (Flagship) คือ กระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน การพัฒนาเด็กปฐมวัย สนับสนุนผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพสร้างห้องการเรียนรู้โดยใช้ e-Book การลดข้อจำกัดของการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาชั้นสูง การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ให้คนไทยที่ไม่จบ ม.๖ เทียบโอนความรู้และประสบการณ์หรือเข้าเรียนให้จบ ม.๖ ได้ภายใน ๑ ปี และโครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งพยาบาล
๓) การปฏิรูปครู เพื่อยกฐานะครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง - ชุดโครงการสำคัญ (Flagship) คือ ปรับปรุงระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนครู พัฒนาระบบความก้าวหน้าของครู ฝึกอบรมครูอย่างเข้มให้มีคุณภาพ และลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้-สร้างโอกาสให้กับครู
๔) การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการฝึกอาชีพ ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ - ชุดโครงการสำคัญ (Flagship) คือ จัดระบบการสร้างประสบการณ์ระหว่างเรียนอย่างเหมาะสม เช่น ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน เรียนก่อนผ่อนทีหลัง-ส่งคืนเมื่อมีรายได้ สร้างรายได้ระหว่างเรียน กองทุนตั้งตัวได้ สนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษามีงานทำได้ทันทีหรือเรียนจบพบงาน มีการฝึกอาชีพในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะให้ตรงกับตลาดแรงงานและบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ และศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน
๕) การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ - ชุดโครงการสำคัญ (Flagship) คือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตที่ทันสมัย โดยมีระบบจัดการความรู้รองรับการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต และมีโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตไร้สาย
๖) การสนับสนุนการพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ - ชุดโครงการสำคัญ (Flagship) คือ พัฒนามหาวิทยาลัยให้มุ่งผลิตนักศึกษาสู่การเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย-มีทักษะหลากหลาย-สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ สร้างเครือข่ายของนักศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสให้มีคุณภาพระดับโลก และสนับสนุนการวิจัยทางการศึกษา
๗) การเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน - ชุดโครงการสำคัญ (Flagship) คือ สร้างความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ
ทั้งนี้ ศธ.จะต้องปรับปรุงแผนงานงบประมาณของ ศธ. ตามพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี ๒๕๕๕ ซึ่งมี ๘ แผนงาน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาทั้ง ๗ ยุทธศาสตร์นี้ด้วย
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/feb/052.html