ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕ ว่าที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษาและรองผู้บริหารสถานศึกษา ในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้บังคับหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาใหม่ โดยมีมติทบทวนวิธีการสอบใหม่ ให้ตัดภาค ข. ออกไป เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในการประเมิน ซึ่งเป็นปัญหาข้อร้องเรียนจำนวนมากที่นำไปสู่การวิ่งเต้นเสียเงินทองของครู
รมว.ศธ. กล่าวว่า เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่เข้าสู่ตำแหน่งนี้ และมีการเรียกรับเงินของคณะกรรมการต่างๆ เพื่อแลกกับตำแหน่ง จึงจำเป็นต้องจัดการให้เกิดความโปร่งใส ไม่ให้มีการคอรัปชันทั้งในการสอบ การเลื่อนวิทยฐานะ และการเลื่อนเงินเดือน โดยหลักเกณฑ์การสอบเดิมจะให้ผู้สมัครสอบในภาค ก. และภาค ข. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบวิสัยทัศน์หรือการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของผู้สอบ แต่วันนี้ ศธ.มีเป้าหมายจะลดการใช้ดุลยพินิจในการประเมินลง เพราะข้อร้องเรียนจำนวนมาก มาจากการวิ่งเต้นเข้าหากรรมการในการสอบหรือการประเมิน
ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบที่จะให้มีการสอบเฉพาะภาค ก. ซึ่งเป็นข้อสอบแบบปรนัย โดยจะให้สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเป็นผู้ออกข้อสอบและจัดสอบ โดยจะแสดงผลการสอบอย่างโปร่งใสทางคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบสามารถขอดูคะแนนได้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) ร่างระเบียบกฎเกณฑ์ เพื่อนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลักเกณฑ์นี้จะมีข้อจำกัดสำหรับคนทำงานเก่งๆ อาจจะได้คะแนนน้อยกว่าคนที่ท่องหนังสือเก่ง ก็ถือเป็นข้อท้วงติงหนึ่ง เพราะกรรมการบางท่านก็ต้องการให้คะแนนสำหรับผู้บริหารมาแล้วสูงขึ้น แต่การปรับปรุงวิธีการสอบนี้มีเป้าหมายที่จะขจัดปัญหาคอรัปชันในวงการศึกษา ไม่ต้องการให้ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษากว่า ๘ แสนคน ต้องวิ่งเต้น จ่ายเงิน หรือมีผู้เรียกรับเงินจากครู ซึ่งจะเป็นการช่วยลดรายจ่าย ลดหนี้สิน สามารถให้ทุกคนเข้าสู่ตำแหน่งด้วยความยุติธรรม ไม่เสียเงินทองวิ่งเต้นอีกต่อไป
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การปรับปรุงการสอบดังกล่าว มีนัยยะการสอบภาค ก. ที่จะพยายามขจัดการเรียกรับผลประโยชน์และการวิ่งเต้น ซึ่ง สพฐ.จะไปจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ ให้เน้นข้อสอบเป็นปรนัย ให้คนมีประสบการณ์มาใช้ประโยชน์ในการสอบ โดยสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงจะเป็นผู้ออกข้อสอบ แต่เมื่อ สพฐ. ได้ประกาศปฏิทินการสอบไปแล้ว โดยกำหนดรับสมัครในระหว่างวันที่ ๓๑ มกราคม-๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้เลื่อนการรับสมัครไปก่อน จนกว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะแล้วเสร็จ
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/jan/035.html