สมองเรียนรู้-รับรู้ไม่สะดุด ด้วย “อาหารใกล้ตัว” ดีสุด ๆ สำหรับ “สารสื่อประสาท” หยิบบรรจุลงเมนูประจำทำสมองแล่น
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้-รับรู้ไม่สะดุด นั่นก็คือ “สารอาหาร” ที่ถูกหลักโภชนาการ ส่งผลด้านบวกต่อ “สารสื่อประสาท” ที่จะทำให้การส่งข้อมูลของสมองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลองมาเช็คกันดูว่า วันนี้คุณให้อาหารสมองแล้วหรือยัง?
เริ่มด้วย การเติมความแข็งแรงให้สารสื่อประสาท “อะซิทิลโคลีน” ด้วยอาหารจำพวกข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต จมูกข้าว เครื่องในสัตว์ เนื้อปลา ไข่แดง ตับ นม ถั่วเหลือง ถั่วสิลง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี เป็นต้น มีผลต่อการควบคุมความจำ การเรียนรู้ การเคลื่อนไหวและการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ
สำหรับ “โดพามีน” จากอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน อาทิ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ อาหารทะเล รวมถึงหัวบีต อัลมอนด์ เมล็ดธัญพืช กล้วย แอปเปิ้ล เหล่านี้มีผลต่อความรู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิ ไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัว
ส่วน “เซโรโทนิน” จากสารอาหารคาร์โบไฮเดรตจำพวกแป้ง และน้ำตาล เช่น ขนมปัง รวมถึงเห็ด ถั่วเขียว หัวเผือก หัวมัน มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ข้าวโพด ผักกาดขาว แคนตาลูป มีบทบาทหลายหน้าที่ ทั้งการควบคุมความหิว ความโกรธ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบ ลดความวิตกกังวล และลดความซึมเศร้า
หมั่นทานเป็นประจำ โดยอาจประยุกต์เป็นเมนูตามชอบ แล้วจะสัมผัสได้ถึงคำกล่าวที่ว่า “You are what you eat”.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์