ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๕ ที่หอประชุมคุรุสภา
รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายการศึกษาคือกุญแจสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขจัดความยากจน โดยนโยบายของ ศธ.ต่อจากนี้ไปจะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูแลครูอาจารย์เสมือนคนในครอบครัว ดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลาน โดยจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน และจะจัดให้ดีกว่าในอดีต จะต้องไม่มีการคอร์รัปชั่น ไม่โกงนักเรียน ไม่บังคับขู่เข็ญครูอาจารย์ ต้องไม่เกณฑ์ครูและนักเรียนไปต้อนรับผู้ใหญ่โดยไม่จำเป็น ต้องไม่ปล่อยให้ยาเสพติดแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา นอกจากนี้ ขอฝากผู้บริหาร ศธ.ให้ช่วยลดกฎระเบียบและงานนอกเหนือจากการสอนของครู เพื่อขจัดการเรียกร้องเงินครูในการโยกย้ายตำแหน่ง รวมทั้งโครงการครูคืนถิ่น ขอให้มีกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบคะแนนได้ และให้ลดการใช้ดุลยพินิจ
รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงจุดเน้นนโยบายการพัฒนาการศึกษาอย่างเท่าเทียมและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษา ดังนี้
-
จัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนทุกคน ซึ่งเยาวชนหมายถึง เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท จัดโดยรัฐหรือเอกชน การศึกษาในระดับโรงเรียนควรจะมีความรู้ในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เด็กมีกรอบคิด มีวิธีคิดที่กว้างขวาง จินตนาการ พร้อมที่จะเผชิญกับโลกสมัยใหม่ และเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๐๑๕ โดยเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ ๓๐๐ บาทต่อคนต่อวัน
-
ปั้นนักศึกษาไทยให้เป็นมืออาชีพ ซึ่งนักศึกษาหมายถึง ผู้ที่เรียนในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา หรือสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ขึ้นไป เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย มีทักษะหลากหลาย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมฐานความรู้ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ผู้จบปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน
-
เน้นขยายโอกาสทางการศึกษา ๔ ด้าน ดังนี้
๑) โอกาสเข้าถึงทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เนื่องจากความเป็นเลิศมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่นักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในชนบท มีฐานะยากจน จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม ได้แก่
- โครงการ One Tablet per Child โดยจะจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับรัฐบาลจีนในเรื่อง G2G เพื่อนำหลักสูตรมาใส่ในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสัญญาณ Wi-Fi ได้ โดยจะหารือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเรื่องการปล่อยสัญญาณ Wi-Fi และการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนในวัยนี้ รวมทั้งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนผู้ใช้ด้วย เพื่อเป็นการเปิดโอกาส ก่อให้เกิดเสรีภาพทางความคิด และมีมุมมองที่กว้างขึ้น
- ห้องการเรียนรู้ โดยมีครูมาเปิดสอนพิเศษแก่นักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าจ้าง มีการติดตั้งซอฟต์แวร์การศึกษา ไม่ว่าจะเป็น e-Book e-Learning เพื่อสร้าง Knowledge Base Society
- โครงการ e-Education เพื่อพัฒนาโปรแกรมและเนื้อหา ที่จะพลิกโฉมโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้ระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
- โครงการโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในฝันสู่อุดมศึกษาชั้นยอด ให้มีคณะกรรมการโรงเรียน (School Board) ที่สามารถจัดจ้างครูใหญ่และครูที่มีความสามารถเป็นเลิศ จัดบริการขั้นพื้นฐาน มีรถรับ-ส่งนักเรียน จัดให้มีหอพักสำหรับนักเรียนที่บ้านอยู่ไกล
- โครงการพลังครู พัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา แก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยการอบรมคุณธรรม ทำบัญชีครัวเรือน ปรับโครงสร้างหนี้ นำหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ และเพิ่มรายได้พิเศษให้เพียงพอ และขยายโอกาสใหม่ๆ
- โครงการศูนย์การศึกษานานาชาติ
- โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งพยาบาล เพื่อดูแลเด็กๆ ที่ป่วย และสามารถสอนหนังสือได้ด้วย
- โรงเรียนตัวอย่างในทุกอำเภอ เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนให้เป็นเลิศ โดยใช้การติดต่อสื่อสารด้วยวิทยาการที่ทันสมัย
๒) โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่นักเรียนและผู้ปกครองจะได้คลายความกังวลในเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
- Smart Card เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- โครงการเรียนก่อนผ่อนทีหลัง ส่งคืนเมื่อมีรายได้
- ทุนการศึกษาสานฝันนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ (๑ อำเภอ ๑ ทุน) โดยจะต้องปรับเกณฑ์เพื่อให้เกิดการกระจายทุนมากขึ้น
- กองทุนตั้งตัวได้ โดยจะตั้งกองทุนในมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน มีคณะกรรมการคอยกำกับควบคุม ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ ศิษย์เก่า ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ตัวแทนภาครัฐและเอกชน เพราะในมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษามีนักศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีนวัตกรรมที่ทันสมัยมากมาย การเป็นนักธุรกิจที่มีฐานความรู้จึงมีความได้เปรียบกว่า สามารถสร้างผู้ประกอบการได้มากกว่า
๓) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง การเรียนรู้บนการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning) ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
- จะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น มีความรู้ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และเป็นมืออาชีพ
- ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) มีเป้าหมายให้มีจำนวนเพียงพอต่อการบริการทุกชุมชน เพราะเป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากทักษะของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา และสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนในชุมชนได้อีกด้วย
- โครงการอัจฉริยะสร้างได้ เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดของตนเองในทุกๆ สาขา
- โครงการ ๑ ดนตรี ๑ กีฬา ๒ ภาษา สนับสนุนให้เยาวชนได้มีความสามารถในการแข่งขันความเป็นเลิศ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ การเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษและจีนต้องอยู่ในบรรยากาศของเจ้าของภาษาให้มากที่สุด ส่วนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะต้องสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง
- ปรับปรุงหลักสูตร ยกเลิกการท่องจำ และใช้หลักการเรียนรู้แทน โดยใช้เนื้อหาวิชาที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้เหมือนกัน เช่น Video Link รวมถึงการวัดผลที่มีมาตรฐานและทันสมัย
- คนไทยที่มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป สามารถเทียบประสบการณ์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้ โดยการเรียนในเวลา หรือนอกเวลา เพื่อให้มีกรอบความคิดที่ก้าวหน้า ทันต่อโลก และทันต่อลูกหลาน
- สถาบันการศึกษาราชภัฏและอาชีวศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถค้นหาตัวเองได้ว่า เก่งด้านใด ถนัดด้านไหน และจะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น มีความรู้ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง มีความเป็นมืออาชีพ เปิดโอกาสให้ประชาชนไปพัฒนาเพิ่มเติมทักษะด้านต่างๆ ตามที่ต้องการ ตามความถนัด โดยเรียนก่อนผ่อนที่หลัง เมื่อมีงานทำจึงจะผ่อนใช้
- จัดศูนย์ฝึกอบรมในสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้เรื่องที่สนใจ พัฒนาทักษะให้คนไทยเป็นผู้ชำนาญในสาขาต่างๆ ใช้ระบบเรียนก่อนผ่อนทีหลัง
๔) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
- โครงการ Internet ตำบล และ Internet หมู่บ้าน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อต่อยอดในสิ่งที่ต้องการทำ รวมทั้งผู้ที่ต้องการเปลี่ยนวิชาชีพด้วย
- สถานที่รวมกลุ่มอย่างสร้างสรรค์แก่เด็กนักเรียน โดยมีคอมพิวเตอร์สัญญาณ Wi-Fi ให้ใช้ รวมทั้งมีครูมาสอนการบ้าน
ภายหลังมอบนโยบาย รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ก็จะเร่งดำเนินการจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาได้ใช้ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ สำหรับการสอบ O-Net ควรจะมีการทบทวนเพื่อให้สามารถสอบได้หลายๆ ครั้ง หรืออาจจะจัดสอบทุกเดือน เช่นเดียวกับการสอบ TOEFL ที่สามารถสอบผ่านทางคอมพิวเตอร์ได้ทุกเดือน หรือสอบออนไลน์ได้ในสถานที่ที่จัดไว้ โดยการสอบ O-Net ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ไม่ควรให้เด็กสอบ ส่วนการประเมินวิทยฐานะนั้น ขอให้มีการประเมินจากหลายฝ่าย ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้อง น้ำหนักร้อยละ ๗๐-๘๐ นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน น้ำหนักร้อยละ ๒๐-๓๐ (ยกเว้นนักเรียนเกเร) รวมทั้งผู้บังคับบัญชาด้วย โดยสามารถตรวจสอบคะแนนได้ ผู้ขอรับการประเมินสามารถขอดูคะแนนของตนเองได้ เพื่อก่อให้เกิดความโปร่งใส ลดการฉ้อฉลและใช้อำนาจในทางที่ผิดของกรรมการบางคน ซึ่ง รมว.ศธ.ได้ขอให้ร่วมกันทำงานด้านการศึกษา โดยคำนึงเสรีภาพ อิสรภาพ ภราดรภาพ และความยุติธรรม
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/jan/026.html