นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ก.ค.ศ.ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ 2 หลักเกณฑ์ คือ
1.มุ่งเน้นผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจากการทำงานของผู้ขอรับการประเมิน เช่น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน และพิจารณาผลงานทางวิชาการที่ผู้นั้นใช้พัฒนาและแก้ปัญหานักเรียน 2.พิจารณาจากคุณภาพและประโยชน์ของผลงานเด่นที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป โดยทั้ง 2 หลักเกณฑ์ยังมีข้อด้อยที่ควรนำมาแก้ไข เช่น การจ้างทำผลงานทางวิชาการ ครูทิ้งห้องเรียนเพราะมุ่งทำผลงาน ครูได้รับการเลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้นแต่คุณภาพผู้เรียนต่ำลง เป็นต้น
ศธ.จึงมีนโยบายในการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูฯ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการประเมิน โดยก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ดังนี้ 1.ให้ข้าราชการครูฯ เสนอข้อตกลงในการพัฒนางาน ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงการปฏิบัติงาน และผลที่แสดงถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เช่น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดในการพัฒนาที่ชัดเจน
2.ให้ราชการต้นสังกัดคัดกรองข้าราชการครูฯ ผู้ที่จะเสนอข้อตกลงในการพัฒนางานเช่น กำหนดว่าต้องทำงานในสถานศึกษาที่มีผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย หรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หรือคัดกรองจากผู้ที่เสนอโครงการในการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เป็นต้น
3.กำหนดให้มีการประเมินคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ กระบวนการและผลที่เกิดจากการทำงาน มุ่งเน้นวิธีการประเมินตามจริง ณ สถานที่ทำงานและกำหนดระยะเวลาในการประเมิน เป็นระยะๆ ภาคเรียนละ 1 ครั้ง ในแต่ละวิทยฐานะดังนี้ วิทยฐานะชำนาญการ ใช้ระยะเวลาประเมิน 2 ปี วิทยฐานะชำนาญการพิเศษขึ้นไป ใช้เวลา 3 ปี
4.เน้นการมีส่วนร่วมในการประเมิน และ 5.ก.ค.ศ.หรือส่วนราชการที่ก.ค.ศ.มอบหมายจะเป็นผู้ประเมินเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการ ซึ่งคาดว่าการประเมินวิทยฐานะตามแนวทางนี้ จะสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้และจะเป็นปัจจัยในการเสริมคุณภาพการศึกษา
ที่มา ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 ม.ค. 2555 (กรอบบ่าย)