เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมแล้วสำหรับโครงการประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์หลังน้ำท่วม ที่สมาคมประกันวินาศภัยเป็นแกนนำ ตั้งราคากลางไว้เป็นราคาอ้างอิงสำหรับรถที่จะเข้าซ่อม ป้องกันผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ พร้อมกับดึงพลังอู่ซ่อมในเครือข่ายต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการ 500-600 แห่ง
"พันธ์เทพ ชัยปริญญา" ประธานชมรมสินไหมยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัย บอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางคณะทำงานได้แบ่งระดับราคาเป็น 4 กลุ่ม คือ
ระดับ A หรือกรณีที่น้ำเข้ารถระดับพื้นพรม จะมีรายการซ่อม 15 รายการ ราคาประมาณ 8,000-10,000 บาท คาดว่าจะใช้เวลาซ่อม 3-5 วัน
ระดับ B ท่วมระดับเบาะ จะมีรายการซ่อม 26 รายการ ราคาประมาณ 15,000-20,000 บาท คาดว่าจะใช้เวลาซ่อม 14 วัน
ระดับ C หรือท่วมถึงเรือนไมล์ของรถ ถือว่าค่อนข้างหนัก ต้องซ่อมทั้งหมด 39 รายการ ราคาประมาณ 20,000-30,000 บาท ต้องใช้เวลาซ่อม 21-30 วัน
ระดับ D ก็คือท่วมมิดหลังคา ส่วนใหญ่ค่าซ่อมจะสูงเกิน 70% ของทุนประกันอยู่แล้ว ก็เสมือนว่าเสียหายทั้งคัน บริษัทประกันก็จะจ่ายทุนประกัน
"กรณีนี้ถือเป็นความร่วมมือเฉพาะกิจที่ดึงอู่ในกลุ่ม "สหมิตร" และ "อู่กลางประกันภัย" เข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งทุกอู่ที่ร่วมโครงการจะมีโลโก้ติดหน้าอู่ สามารถเข้าไปใช้บริการได้บนระดับราคากลางที่กำหนด ส่วนระยะเวลาซ่อมก็อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าเดิมบ้าง เพราะการซ่อมรถที่ถูกน้ำท่วมจะใช้เวลามากกว่าซ่อมรถที่เกิดอุบัติเหตุอยู่แล้ว รวมถึงปริมาณรถเข้าซ่อมช่วงนี้ก็เยอะมาก อู่หลายแห่งก็เสียหาย ผู้บริโภคก็ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย"
ทั้งนี้ ราคากลางดังกล่าวคิดเฉพาะค่าแรง ไม่รวมค่าอะไหล่ซึ่งจะขึ้นกับรถแต่ละรุ่นที่จะมีค่าอะไหล่แตกต่างกัน รวมถึงระดับความเสียหายของรถ เช่น รถที่จอดแล้วท่วม ชิ้นส่วนบางรายการแค่ทำความสะอาด เป่าแห้งแล้วก็กลับมาใช้ได้ แต่ถ้าขับลุยเข้าไปแล้วน้ำท่วม โอกาสชิ้นส่วนเสียหายจะค่อนข้างมากแน่นอน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอะไหล่ ในช่วงนี้จะไม่แพงมากนัก เพราะบรรดา ผู้แทนขายอะไหล่รายใหญ่ก็ช่วยลดราคาให้ประมาณ 30% ด้วย ก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยลดภาระผู้บริโภคลงไปได้
สำหรับผู้บริโภคทั่วไป พันธ์เทพบอกว่า ทางสมาคมก็มีแผนจะออกบูทลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำลูกค้ารถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม เช่น ให้คำแนะนำในการกู้รถ เช็กสภาพรถเบื้องต้น รวมถึงจะบริการยกรถไปซ่อม คิดค่าบริการในราคาถูกกว่าปกติ ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่เก็บจากบริษัทประกันภัย
"ในจุดแรกเราคงเริ่มต้นที่ จ.นนทบุรี จากนั้นก็คงทยอยหมุนไปยังจุดอื่น ๆ ต่อไป เช่น ปทุมธานี รวมถึงกรุงเทพฯก็คงต้องหลายจุด อย่างดอนเมือง พระราม 2 เพื่อกระจายความช่วยเหลือไปยังประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ซื้อประกันภัยเอาไว้ ก็สามารถมาขอคำแนะนำได้ฟรี ใช้ราคาอ้างอิงการซ่อมเป็นเกณฑ์ก็ได้ หรือจะใช้บริการรถยกก็ได้ในราคาถูก"
ส่วนผลกระทบต่อค่าเบี้ยประกันที่ลูกค้าจะต่ออายุกรมธรรม์ในปีต่อไป พันธ์เทพบอกว่า ถือเป็นเรื่องปกติของประกันภัยที่ต้องประเมินกันไปตามค่าสินไหมและประวัติของลูกค้า ยกตัวอย่าง ถ้า 2 ปีที่ผ่านมาลูกค้าไม่เคยเคลมเลย ก็จะได้ส่วนลดค่าเบี้ยไปแล้ว 20% แต่ปีนี้มาโดนน้ำท่วมก็เรียกเคลม เขาก็ต้องเสียสิทธิ์ส่วนลดนั้น กลับมาเริ่มต้นจ่ายเบี้ยในราคาเริ่มต้นใหม่ หรือถ้าบางรายที่เคลมไปถึง 200% แล้ว ก็ต้องถูกเพิ่มค่าเบี้ยก็เป็นเรื่องปกติ
นอกจากนี้ในการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็ยังมีแนวคิดที่จะเพิ่มความคุ้มครองเกี่ยวกับภัยธรรมชาติซึ่งรวมถึงน้ำท่วม ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้าสำหรับประกันรถแบบ 2 พลัส และ 3 พลัส สามารถซื้อเพิ่มแนบท้ายเข้าไปอีกก็ได้ ซึ่งอาจจะได้เห็นกรมธรรม์แบบนี้เข้ามาเติมในตลาดปีหน้าอีกก็ได้
เพราะเวลานี้ลูกค้ากำลังให้ความสนใจมาก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะต้องติดตามกันต่อไป
ขอบคุณที่มา ประชาชาติธุรกิจ