นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2554 เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ
จากการที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ ว17/2552 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนการสอนหรือการบริหารจัดการศึกษา และหลักเกณฑ์ ว5/2554 หรือที่เรียกกันว่าเกณฑ์เชิงประจักษ์นั้น การประเมินทั้ง 2 หลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ขอรับการประเมินจะได้รับการประเมินใน 3 ด้าน แต่ที่ผ่านมาพบว่าข้าราชการครูฯ มีความวิตกกังวลกับการจัดทำผลการปฏิบัติงาน (ด้านที่ 3) ประกอบด้วยผลการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานและผลงานทางวิชาการ ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดความชำนาญในการวิจัยหรือการถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานในรูปแบบของผลงานทางวิชาการ ส่งผลให้ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการประเมิน ทั้งยังอาจส่งผลถึงปัญหาการจ้างทำผลงานทางวิชาการ ลอกเลียน หรือคัดลอกผลงานทางวิชาการ ครูทิ้งห้องเรียนเพราะมุ่งทำผลงานทางวิชาการ เป็นต้น ดังนั้น ศธ.จึงมีนโนบายในการประเมินข้าราชการครูฯ ให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ โดยเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงต้องการให้ผู้ปกครอง ชุมชน สมาคม และชมรมวิชาการต่างๆ ที่ใกล้ชิดกับสถานศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินมากขึ้น
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว เห็นชอบในหลักการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว คือ
- ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเสนอแนวทางการพัฒนางาน ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานและผลงานที่แสดงถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เช่น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดในการพัฒนาที่ชัดเจน รวมทั้งต้องมีผลผลิตและผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
- ให้ส่วนราชการต้นสังกัดคัดกรองข้าราชการครูฯ ผู้ที่จะเสนอแนวทางในการพัฒนางาน เช่น กำหนดว่าต้องเป็นข้าราชการครูฯ ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาที่มีผลการพัฒนาผล สัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมาย หรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการกำหนด หรือคัดกรองจากผู้ที่เสนอโครงการในการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เป็นต้น
- กำหนดให้มีการประเมินคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ กระบวนการและผลที่เกิดจากการปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นวิธีการประเมินตามสภาพจริง ณ สถานที่ปฏิบัติงานและกำหนดระยะเวลาในการประเมินหลังจากการยื่น MOU แล้ว เป็นระยะๆ ภาคเรียนละ 1 ครั้ง ในแต่ละวิทยฐานะ คือ วิทยฐานะชำนาญการ ใช้ระยะเวลาในการประเมิน 2 ปี วิทยฐานะชำนาญการพิเศษขึ้นไป ใช้ระยะเวลาในการประเมิน 3 ปี
- เน้นการมีส่วนร่วมในการประเมิน เช่น ให้ผู้ปกครอง ชุมชน สมาคม และชมรมทางวิชาการต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน
- ก.ค.ศ. จะเป็นผู้ประเมินเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดของการทำ MOU
- ข้าราชการครูฯ ผู้ใดย้ายระหว่างช่วงเวลาของ MOU ถือว่าข้าราชการครูฯ ผู้นั้นสละสิทธิ์การขอรับการประเมิน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมขอให้จัดทำเกณฑ์การประเมิน โดยเทียบเคียงกับเกณฑ์ประเมินของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในเชิง Fast Track ที่มุ่งเน้นการจัดทำผลงานทางวิชาการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม
ขอบคุณทีมาจาก http://www.moe.go.th/websm/2011/nov/306.html