นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2554 เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์ฯ บรรจุและแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา และรอง ผอ.สถานศึกษา ในพื้นที่ปกติ และในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปดังนี้
►เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ บรรจุและแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา และรอง ผอ.สถานศึกษา ในพื้นที่ปกติ และในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ในพื้นที่ปกติและในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ สะบ้าย้อย เทพา และนาทวี) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
-
หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดนี้ ให้ใช้กับทุกส่วนราชการ
-
การสรรหาแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีสอบคัดเลือก และวิธีคัดเลือก
-
กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหา ไว้ต่างกัน ดังนี้ กลุ่มสอบคัดเลือก ผู้สมัครมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่ง กลุ่มคัดเลือก ผู้สมัครมีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่งบวกเพิ่มประสบการณ์และวิทยฐานะ
-
หลักสูตรการประเมิน 1) กลุ่มสอบคัดเลือก ประเมิน 2 ภาค คือ ภาค ก. ประเมินสมรรถนะทางการบริหาร ความรู้ความสามารถทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และภาค ข. ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยการประเมินวิสัยทัศน์ แนวคิด วิธีการ และข้อเสนอในการพัฒนาสถานศึกษา และสัมภาษณ์ 2) กลุ่มคัดเลือก ประเมิน 2 ภาค คือ ภาค ก ประเมินจากผลงานที่ประสบความสำเร็จ ภาค ข ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยการประเมินวิสัยทัศน์ แนวคิด วิธีการ และข้อเสนอในการพัฒนาสถานศึกษา และสัมภาษณ์
-
เกณฑ์การตัดสิน เกณฑ์ผ่านการประเมิน ภาค ก และ ภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
-
ผู้รับผิดชอบการประเมิน
1) พื้นที่ปกติ การประเมินภาค ก ทั้งกลุ่มสอบคัดเลือกและกลุ่มคัดเลือก ให้ สพฐ.ดำเนินการประเมิน ส่วนการประเมินภาค ข ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ โดยต้องกำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้งสำหรับกลุ่มสอบคัดเลือกและกลุ่มคัดเลือกให้ใกล้เคียงกัน
2) เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ การประเมินทั้งภาค ก และภาค ข กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ โดยกำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่างกลุ่มสอบคัดเลือก ร้อยละ 30 และกลุ่มคัดเลือก ร้อยละ 70 กรณีที่กำหนดสัดส่วนแตกต่างจากที่กำหนดให้เสนอส่วนราชการพิจารณา
-
การประกาศขึ้นบัญชี พื้นที่ปกติ ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับคัดเลือกภาค ข แยกเป็น 2 กลุ่ม ตามลำดับผลคะแนนจากมากไปหาน้อย พื้นที่พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศขึ้นบัญชีผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินภาค ก และ ภาค ข และปฏิบัติเช่นเดียวกับพื้นที่ปกติ
-
การประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นบัญชีรวม ภาค ข และการยกเลิกบัญชีรวม ภาค ข หลังจากบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกตามลำดับผลคะแนนทั้ง 2 กลุ่มแล้ว ให้ประกาศขึ้น บัญชีรวมเป็นบัญชีเดียว โดยนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกที่เหลือมาจัดลำดับใหม่ตามคะแนนผลการประเมินภาค ข จากมากไปหาน้อย เพื่อใช้บรรจุและแต่งตั้งต่อไป โดยบัญชีรวม ภาค ข จะมีอายุเท่ากับบัญชี ภาค ก
-
การบรรจุและแต่งตั้ง ให้บรรจุและแต่งตั้งครั้งแรกจากผู้ได้รับการคัดเลือกตามลำดับในบัญชีกลุ่ม สอบคัดเลือกและกลุ่มคัดเลือกตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัคร หากมีตำแหน่งว่างเพียง 1 ตำแหน่ง ให้เรียกบรรจุจัดบัญชีสอบคัดเลือกก่อน สำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เรียกบรรจุจากบัญชีคัดเลือกก่อน หลังการบรรจุและแต่งตั้งครั้งแรก ให้เรียกบรรจุจากผู้ได้รับคัดเลือกจากบัญชีรวม ภาค ข
-
เงื่อนไขพิเศษพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง และให้ผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกที่ปฏิบัติงานอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสิทธินับระยะเวลาทวีคูณ ในการคำนวณระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
ขอบคุณที่มาจาก http://www.moe.go.th/websm/2011/nov/306.html