วิสรุปเกณฑ์วิทยฐานะ'ชก.-ชกพ.' ดึง'ผู้ปกครอง-ชุมชน'นั่งกก.ประเมิน สกัดพวกจ้างเขียนผลงานขอตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเฉพาะกิจจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยผลการประชุมอ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะชำนาญการ และชำนาญการพิเศษแล้ว โดยได้นำเสนอ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญระบบเห็นชอบแล้ว และรอเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา โดยร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้กำหนดให้ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามาเป็น1 ใน 3 กรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะทำหน้าที่ประเมินผลงานของข้าราชการครูฯในขั้นตอนสุดท้าย
นายสุขุมกล่าวว่า ส่วนวิธีการและหลักการประเมินนั้น กำหนดไว้ดังนี้
1.วิทยฐานะชำนาญการ(ชก.) จะให้ข้าราชการครูฯที่จะขอรับประเมินให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ ยื่นข้อเสนอมาว่ามีผลงานดีเด่นอะไรบ้างที่จะตรวจสอบได้ จากนั้นจะให้กรรมการประเมินไปติดตามประเมินผลงานที่เสนอมาภาคเรียนละ 1 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ปี และเมื่อครบ 4 ครั้ง จะให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปประเมินครั้งสุดท้ายว่าผ่านหรือไม่ผ่าน และ
2.วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ(ชกพ.) จะให้ข้าราชการครูฯที่จะขอรับประเมินให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ ยื่นข้อเสนอมาเช่นเดียวกับวิทยฐานะชำนาญการ จากนั้นจะส่งกรรมการประเมินไปติดตามในระยะเวลา 3 ปี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง และเมื่อครบ 6 ครั้ง จะให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปประเมินครั้งสุดท้ายว่าผ่านหรือไม่ผ่าน
นายสุขุมกล่าวต่อว่า ส่วนการทำผลงานทางวิชาการนั้น ยังต้องมีเอกสารทางวิชาการประกอบด้วยแต่ไม่ใช่ลักษณะเหมือนกับการเขียนตำรา ทั้งนี้ การให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประเมินข้าราชการครูฯนั้น เชื่อว่าจะอุดช่องว่างให้กับข้าราชการครูฯที่ทำงานดีแล้วไม่ได้เลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งผู้ปกครองและชุมชนจะเป็นผู้ที่รู้ดีกว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากมหาวิทยาลัย ว่าข้าราชการครูฯมีผลงานดีเด่นจริงหรือไม่ โดยจะสะท้อนได้จากผลที่เกิดจากบุตรหลานของผู้ปกครองและชุมชนเองอย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองและชุมชนที่จะคัดเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น จะมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้และจะคัดเลือกโดย อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา
"สาเหตุที่ตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯชุดนี้ เนื่องจากมักมีเรื่องร้องเรียนว่าข้าราชการครูฯที่ทำงานดีสอนดี หรือผู้อำนวยการสถานศึกษาที่บริหารดี มักจะไม่ได้เลื่อนวิทยฐานะ แต่ข้าราชการครูฯที่ได้เลื่อนวิทยฐานะมักจะไปจ้างคนอื่นเขียนผลงานให้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงต้องพยายามหาวิธีการที่จะเลื่อนวิทยฐานะต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นช่องทางพิเศษหนึ่ง เช่นเดียวกับวิทยฐานะเชิงประจักษ์สำหรับผู้มีผลงานดีเด่นที่ได้ประกาศใช้แล้ว ส่วนการประเมินวิทยฐานะตามช่องทางปกติก็ยังมีอยู่เช่นเดิม
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 11 พ.ย. 2554 (กรอบบ่าย)