อิทธิพลของเซ็นที่มีต่อนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น
มนุษย์ทุกคนล้วนแต่มีความกระหายที่จะประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดมาอยู่ในประเทศไหน นับถือศาสนาอะไรก็ตาม ค่านิยมของความสำเร็จในชีวิต ของมนุษย์เกือบทั้งโลก มักจะหมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวยทางวัตถุ ชื่อเสียงเกียรติยศ อำนาจวาสนา และบริวาร
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทั้งหลายจึงถูกแรงขับ จากความความโลภภายใน เพื่อตอบสนองความต้องการสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ที่เชื่อว่าเป็นองค์ประกอบของความสำเร็จ ให้มีการกระทำต่างๆ นานา ทั้งดีและชั่ว ต่างๆ กันไป สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ถูกสั่งสอนตั้งแต่วัยเด็กก็คือ ให้มุ่งมั่นขยันเรียน เรียนให้เก่งๆ เพื่อชนะการแข่งขัน ในการสอบเข้าเรียนในสายวิชาที่ จบการศึกษามาแล้ว สามารถหาได้รายได้สูงๆ
ในวัยเด็ก พ่อแม่จะเคี่ยวเข็ญลูกให้เรียนเก่งๆ ขยันเรียน ผลการเรียนดีๆ มากกว่าที่จะเน้น
ทางด้านพัฒนาจิตใจ ทุกคนถูกปลูกฝังให้ เติบโตขึ้นมาต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง เกียรติยศ ให้ได้ทำงานเป็นเจ้าคนนายคน การแข่งขันกันทางด้านวัตถุยิ่งรุนแรงมากเท่าใด มนุษย์ก็ยิ่งเห็นแก่ตัว ฉลาดในทางใช้เล่ห์เหลี่ยม โลภโมโทสัน เอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้นเท่านั้น การศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือ ของความได้เปรียบในการแข่งขันแสวงหาความสำเร็จ โดยเฉพาะทางด้านวัตถุ หลายครั้งที่เราพบเห็นคนที่มีการศึกษาสูงๆ เอารัดเอาเปรียบคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า หลายครั้งที่คนยิ่งรวย กลับยิ่งมีพฤติกรรมคดโกง และกดขี่คนยากคนจนมากยิ่งกว่าคนที่มีฐานะหรือการศึกษาระดับปานกลาง
ทฤษฏีด้านการบริหาร การจัดการ ทางด้านธุรกิจ รวมถึงนโยบายการบริหารประเทศ ต่างเน้นไปที่ผลผลิตมวลรวม หรือผลกำไรสูงสุด แนวคิดนี้ ทำให้มนุษย์ภายในองค์กรถูกมองเป็นแค่เพียงปัจจัยในการผลิต เป็นแค่แรงงาน หรือ มนุษย์ที่อยู่นอกองค์กร ก็เป็นแค่เพียงผู้บริโภค ซึ่งเปรียบเสมือนเหยื่อของการมอมเมาให้เสพสินค้าที่ตนเองผลิต
เมื่อมองไปทั่วโลก โดยเฉพาะซีกโลกด้านตะวันตก ที่เคยรุ่งเรืองเป็นแนวหน้าในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านธุรกิจ และเทคโนโลยี ปัจจุบันเริ่มเสื่อมถอย และล่มสลาย ไม่ว่าจะระบบภาคอุตสาหกรรม การค้า การเงิน และการเมืองการปกครอง บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามขาติหลายๆ บริษัทล่มจม ล้มละลาย ทยอยกันพังพาบปิดกิจการกันเป็นแถวๆ หรือไม่ก็ถูกบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นซื้อควบรวมกิจการไปเกือบหมดสิ้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าระบบทุนนิยม เน้นความมั่งคั่งทางด้านวัตถุกำลังประสบปัญหา
เมื่อหันกลับมามอง ทางด้านโลกตะวันออก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีการเติบโตอย่างน่าประหลาดใจ บริษัทหรืออุตสาหกรรม ที่เคยถูกดูแคลนว่าเป็นสินค้าเลียนแบบ ไม่มีคุณภาพ กลับเติบโตอย่างมั่นคงและกลายเป็นสินค้าที่คนทั่วโลกนิยมบริโภคกันมากกว่าสินค้าจากโลกซีกตะวันตกเสียอีก อาทิเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเทคโนโลยี และรถยนต์ ฯลฯ
ซึ่งเมื่อศึกษาแนวคิด หรือปรัชญาองค์กรของชาวญี่ปุ่น ก็พบว่า ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กร ได้รับอิทธิพลจากลัทธิหรือศาสนาเซ็น ที่มีต่อนโยบายหรืออุดมการณ์ขององค์กร เป็นอย่างมาก ซึ่งอิทธิพลของเซ็น มีทั้งในระดับการบริหารจัดการภายในองค์กร และการตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนภายนอกองค์กร หรือกลุ่มผู้บริโภค
นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ไม่ได้เดินตามก้นชาวตะวันตกไปเสียหมดทุกเรื่อง เพราะเขามีจุดยืน ในเรื่องปรัชญา แนวคิด เป็นของตัวเอง จะเห็นว่ามีแนวคิดทางด้านการบริหารจัดการที่โด่งดัง ตามสไตล์คนญี่ปุ่นที่แตกต่างจากคนชาวตะวันตกอยู่หลายทฤษฏี จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่พบว่า องค์กรหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น มีผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูง ที่มีลักษณะเหมือนความลึกซึ้งทางด้านเซ็น และเขาเหล่านั้นไม่ได้มุ่งเน้นไปด้านสร้างผลกำไรสูงสุด อย่างไม่ลืมหูลืมตา
ผู้นำองค์กรหรือเจ้าของกิจการ ไม่ได้มีภาพเป็นเพียงนายจ้าง หรือนายทุนผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังมีภาพคล้ายๆ กับผู้นำลัทธิหรือผู้นำทางศาสนา อันเป็นที่เคารพรักศรัทธาของพนักงานที่มีอยู่เป็นหมื่นเป็นแสนคน ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จึงไม่ได้ผูกพันกันด้วยผลตอบแทนคือเงินเท่านั้น แต่ผูกพันกันด้านจิตวิญญาณด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ บริษัทมัตสึชิตะ อิเลคทริค มหาชนจำกัด ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า รายใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของสินค้าแบรนด์ เนชั่นแนล พานาโซนิค เทียค ฯลฯ มัตสึชิตะ ประธานบริษัท ได้รับอิทธิพลโดยตรงจาก การเข้าวัด และนำรูปแบบ ความดี ศีลธรรม คุณธรรม ปรัชญาชีวิต มาจากวัดเซ็น ที่เขาใกล้ชิด และนำมาสู่ ปรัชญาขององค์กร ที่คนทั้งองค์กรเรียกมันว่า ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ คือ ผลิตสินค้าคุณภาพดีให้ได้เยอะๆ เพื่อให้มีราคาถูกที่ทุกคน สามารถ ซื้อใช้ได้ เพราะยกระดับคุณภาพชีวิต ให้แก่มวลหมู่มนุษย์ ซึ่งทำให้คนทั้งองค์กรมีความภาคภูมิใจ ในคุณค่าของตนเอง การกระทำของตนเอง ต่อสังคมโลก มากกว่า ที่จะเน้นไปทางด้านผลกำไรสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกองค์กรที่คิดจะเป็นผู้ให้ ไม่ได้เน้นเรื่องความร่ำรวย กลับยิ่งได้และยิ่งร่ำรวย
บริษัทโตชิบา ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด เพราะประธานบริษัท ถึงกับนิมนต์พระมาอยู่ในบ้าน โดยสร้างสำนัก ให้พระมาอยู่ใกล้ชิด เป็นที่ปรึกษาพิเศษ ในการนำแนวคิดปรัชญาคำสอนมาดำเนินธุรกิจ จะเห็นได้ว่าปรัชญาของโตชิบา คือ นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนา ที่มีต่อนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นอย่างชัดเจน
อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น ค่ายโตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน ก็ล้วนแต่ เป็นรถยนต์คุณภาพดี ประหยัดพลังงาน ราคาย่อมเยา จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลกแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา รถโตโยต้า ก็เป็นรถยอดนิยมอันดับหนึ่ง ในขณะที่ค่ายรถของอเมริกาเองกลับประสบปัญหาล้มละลายแทบทุกค่ายเลย
อาจจะสรุปได้ว่า อิทธิพลของศาสนาเซ็นในญี่ปุ่น มีผลต่อทัศนคติของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ให้มีอุดมการณ์อันสูงส่ง ที่มองว่าความสำเร็จไม่ใช่แค่ความมั่งคั่งทางวัตถุเท่านั้น แต่ต้องเป็นความสงบสุขภายในคือทางจิตวิญญาณด้วย พวกเขาจึงมีปรัชญาทางธุรกิจ ที่เรียกว่า ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อรับใช้มวลหมู่มนุษยชาติ มากกว่าที่จะเน้นแสวงหากำไรสูงสุด นี่อาจเป็นสาเหตุ ให้ธุรกิจของชาวญี่ปุ่นเติบโตอย่างมั่งคั่งบนความมั่นคงในปัจจุบัน