นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมซักซ้อมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินในสถานการณ์อุทกภัย ๙ แผนของกระทรวงศึกษาธิการในการฟื้นฟูและเยียวยา เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ในภาพรวมของ ศธ.ไม่ว่าจะเป็นการจัดศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบภัยไว้ถึง ๕๔๘ ศูนย์ รองรับผู้ประสบภัยกว่า ๑๘๐,๐๐๐ คน ซึ่งมีประชาชนเข้าพักพิงแล้วจำนวน ๒๓,๘๖๙ คน นอกจากนี้ยังได้แจกถุงยังชีพ แจกวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำพนังกั้นน้ำ จัดทำอาหาร และพาหนะสำหรับขนย้ายผู้ประสบอุทกภัยออกมานอกพื้นที่ ซึ่งต่อจากนี้ไป ศธ.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูและเยียวยา ๙ แผน ดังต่อไปนี้
· การซ่อมแซมโรงเรียนและสถานศึกษา โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบ
· การช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบ
· การฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบ
· การซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบ
· การฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม มีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมทั้ง ๗ แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ดังนี้ ๑) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี ๒) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ๓) มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ๔) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ๕) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ๖) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ๗) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมแฟคทอรี่ โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเข้าไปศึกษาข้อมูลพื้นฐานในแต่ละนิคม ทั้งจำนวนโรงงาน ลักษณะของแต่ละโรงงาน และความต้องการในการช่วยเหลือ เช่น เรื่องเครื่องมือ เครื่องจักร สารเคมี การจัดทำคู่มือในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยจะจัดทำเครือข่ายในแต่ละนิคมอุตสาหกรรมด้วย
· การฝึกอาชีพ มีสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบ
· การจัดการเรียนรู้ มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบ
· การผลิตพืชผัก ปศุสัตว์ และประมง มีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบ
· การฟื้นฟูสภาพดิน น้ำ และภูมิทัศน์ มีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้ระดมพลังทุกหน่วยงานของ ศธ.ในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่จังหวัดที่ประสบอุทกภัยในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอพยพ การเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ด้านที่พัก อาหาร การรักษาพยาบาล ดังนี้
· จังหวัดราชบุรี รับผิดชอบดูแล ๔ อำเภอในจังหวัดนครปฐม ได้แก่ อำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี อำเภอพุทธมณฑล และอำเภอสามพราน และจังหวัดกาญจนบุรีรับผิดชอบดูแล ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนตูม อำเภอกำแพงแสน อำเภอเมือง โดยมีนายกมล รอดคล้าย ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ
· จังหวัดนครราชสีมา รับผิดชอบดูแลจังหวัดนนทบุรี โดยมีนายศุภกร วงศ์ปราชญ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ
· จังหวัดปราจีนบุรี นครนายก และระยอง รับผิดชอบดูแลจังหวัดปทุมธานี โดยมีนางสุทธิศรี วงษ์สมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ
·จังหวัดเพชรบุรี รับผิดชอบดูแลจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายวิมล จำนงบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ
· กรุงเทพมหานคร ได้มีการมอบหมายให้ช่วยเหลือในแต่ละเขต ดังนี้ เขตดอนเมือง-จังหวัดสุรินทร์ เขตสายไหม-จังหวัดบุรีรัมย์ เขตบางเขน-จังหวัดขอนแก่น เขตหลักสี่-จังหวัดศรีสะเกษ เขตคลองสามวา-จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตมีนบุรี-จังหวัดอุดรธานี เขตหนองจอก-จังหวัดสระแก้ว เขตลาดกระบัง-จังหวัดสระบุรี โดยมีนายกิจสุวัฒน์ หงส์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ, เขตบางพลัด-จังหวัดร้อยเอ็ด เขตทวีวัฒนา-จังหวัดกาฬสินธุ์ เขตตลิ่งชัน-จังหวัดมหาสารคาม เขตธนบุรี-จังหวัดยโสธร โดยมีนายปราโมทย์ แก้วสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ, เขตลาดพร้าว-จังหวัดหนองบัวลำภู เขตวังทองหลาง-จังหวัดหนองคาย เขตคันนายาว-จังหวัดชัยภูมิ โดยมีนายเสน่ห์ ขาวโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2011/nov/288.html