ไม่ใช่ครั้งแรกที่เมืองไทยอาจประสบปัญหา"น้ำท่วมกรุงเทพฯ" และเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็เคย"ถูกน้ำตีแตก"เช่นกัน
นาทีนี้ สิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้ชาวกรุงเทพฯ มากที่สุด คงหนีไม่พ้นข้อสงสัยว่า “กรุงเทพฯ จะเกิดน้ำท่วมหรือไม่?” เพราะสถานการณ์วิกฤติขึ้นทุกวัน บริเวณที่ถูกระบุว่า “เอาอยู่” หรือ “ไม่ต้องกังวล” ก็เห็นได้ว่าน้ำตีจนแตกพ่ายแทบทุกที่ จนวันนี้กรุงเทพฯ ประสบภาวะ “น้ำล้อมเมือง”
แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เมืองหลวงของประเทศไทยประสบภาวะน้ำท่วม หากย้อนดูประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ ก็เคยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่หลายครั้ง เช่นในปี 2485 มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็เพิ่มสูงขึ้นจนท่วมท้นกรุงเทพมหานคร บริเวณสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ วัดระดับน้ำที่ท่วมได้สูงถึง 2.27 เมตร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในปี 2538 ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อพายุหลายลูกพัดถล่มทางตอนบนของประเทศไทย ทำให้น้ำเหนือไหลหลากท่วมกรุงเทพฯ ระดับน้ำสูงถึง 1 เมตร นานร่วม 2 เดือน
ที่สำคัญ ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เมืองหลวงต้องเผชิญกับอุทกภัย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมในกรุงมะนิลา จากเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 500,000 คน ทำให้ถนนหลายสายถูกตัดขาดเนื่องจากน้ำท่วม โรงเรียนและหน่วยงานราชการที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต้องหยุดทำการ เที่ยวบินที่เข้าออกกรุงมะนิลาหลายเที่ยวถูกยกเลิก นอกจากนี้สถาบันการเงินต่างๆ เช่นธนาคารและตลาดหุ้นต้องหยุดทำการ ส่วนระบบรถไฟฟ้าก็หยุดให้บริการเนื่องจากไฟฟ้าไม่เพียงพอ
ส่วนเมื่อปี 2553 กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ก็เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษ เนื่องจากฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้สะพานถูกตัดขาด เกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน ทางตอนใต้ของกรุงโซลถูกตัดไฟฟ้า ทำให้ระบบรถไฟใช้งานไม่ได้ ขณะที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินก็กลายสภาพเป็นสระน้ำ รถยนต์เป็นพันคันต้องจมใต้บาดาล ส่วนประชากรกว่า 4,500 คนไร้ที่อยู่อาศัย
ด้าน “จาร์กาต้า” เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง เนื่องจากกระแสน้ำทะเลที่ขึ้นสูงผิดปกติ แต่อุทกภัยใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2550 เพราะฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำหรือประมาณร้อยละ 70 ของเมือง สัญญาณโทรศัพท์ขัดข้อง การจราจรติดขัดเนื่องจากถนนบางส่วนถูกปกคลุมด้วยน้ำ ซึ่งต้นเหตุของอุทกภัยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และสิ่งก่อสร้างในเมืองที่ขวางทางน้ำไหลก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้ร้ายแรงยิ่งขึ้น
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 57 ราย ส่วนประชากรอีกกว่า 250,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย หลายคนต้องไปอาศัยอยู่ใต้สะพานหรือกางเต้นท์ที่พักบริเวณสุสาน การช่วยเหลือของทางการก็ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดปัญหาขาดน้ำสะอาดและอาหาร
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศโลกตะวันตกอย่างอิตาลี ก็เพิ่งเกิดน้ำท่วมในกรุงโรม เพราะพายุฝนถล่ม ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ต้นไม้หักโค่น ระบบขนส่งมวลชนขัดข้อง รถไฟใต้ดินต้องงดให้บริการและสายการบินบางเที่ยวดีเลย์ จนนายกเทศมนตรีกรุงโรมต้องออกมาประกาศภาวะฉุกเฉิน จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เนื่องจากจมน้ำในชั้นใต้ดินของอพาร์ทเม้นต์ และหลังจากฝนหยุดตก การจราจรก็ยังติดขัดโดยเฉพาะบริเวณชานเมือง
เมืองหลวงของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่า“พัฒนาแล้ว”หรือ“กำลังพัฒนา”ก็เคยเกิดอุทกภัยเช่นกัน และถึงตอนนี้ กรุงเทพมหานครจะน้ำท่วมหรือไม่ ไม่มีใครรู้ เพราะน้ำแทรกซึมไปได้ทุกที่และคาดการณ์แทบไม่ได้ แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้คือต้องเตรียมป้องกันและไม่ประมาท เพราะหากน้ำไม่มาก็ดีไป แต่ถ้าน้ำมาเมื่อไหร่ จะได้ลดความเสียหายที่อาจเกิดกับชีวิตและทรัพย์สิน
ทีมเดลินิวส์ ออนไลน์
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์