ตอกย้ำปรับโครงสร้างเขตพื้นที่ฯ ล้มเหลว สพฐ.ย้อนกลับสู่ระบบเก่าทบทวนปรับจำนวนเขตพื้นที่ฯ ใหม่ให้ทุกจังหวัดมีเขตมัธยม และประถม เหตุพบโครงสร้างปัจจุบันมีปัญหาบริหารจัดการ เล็งเปิดหน่วยบริการระดับอำเภอ เตรียมศึกษาก่อนชงบอร์ดสภาการศึกษา ม.ค.55 เห็นชอบและประกาศ
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.จะทบทวนจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 2 ประเภท คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่ปัจจุบันมี 42 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) มี 183 เขต รวมเป็น 225 เขต ทั้งนี้ เพราะ สพฐ.ได้ติดตามการบริหารงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า โครง สร้างของเขตพื้นที่การศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สะดวกต่อการบริหารจัดการ และการประสานงานติดต่อระหว่างสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะ สพม.บางแห่งมีขอบเขตการดูแลสถานศึกษาในหลายจังหวัด สถานศึกษาที่อยู่ไกล ต้องใช้เวลาเดินทาง ดังนั้น สพฐ.จึงมีแนวคิดที่จะปรับเพิ่มจำนวน สพม.เป็นจังหวัดละ 1 เขต พร้อม ปรับลดจำนวนของ สพป.ลง ในบางจังหวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่มากอาจจะเหลือเพียง สพป.เดียว นอกเสียจากจังหวัดที่มีขนาดกลาง และขนาดใหญ่อาจจะต้องมีจำนวนมากกว่า 1 เขตเพื่อให้การดูแลนั้นครอบคลุม
“จังหวัดใดที่มี สพป.มากกว่า 4 เขตขึ้นไปนั้นถือว่าเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมานั้นมี สพป.มากที่สุดถึง 7 เขต แต่จังหวัดขนาดเล็กนั้นจะมีเขตพื้นที่เดียวเท่านั้น แต่ในจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่นั้น อาจมีการตั้งหน่วยบริการย่อยระดับอำเภอขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้สถานศึกษาและครูไม่ต้องเดินทางไกล อาจมอบหมายให้รอง ผอ.เขตพื้นที่มาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหน่วยบริการระดับอำเภอนี้ แต่จะไม่มีการตั้งตำแหน่งใหม่ หรือเพิ่มอัตรากำลังขึ้นมารองรับหน่วยบริการระดับอำเภอนี้ ให้ใช้วิธีบริหารจัดการโครงสร้างภายในเขตพื้นที่แทน”เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า เรื่องการปรับจำนวนเขตพื้นที่การศึกษานั้น จะต้องมีการศึกษาวิจัยให้ชัดเจนและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ เพราะ สพฐ.ต้องการจะคงจำนวนของเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมดไว้ให้ใกล้เคียงจำนวนใน ปัจจุบัน 225 เขตมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดภาระในการเพิ่มบุคลากร และงบประมาณ จากนั้น สพฐ.จะสรุปพร้อมทำรายละเอียดเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาในเดือนธันวาคม เสร็จแล้วประมาณเดือนมกราคม 2555 จึง นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาการศึกษา เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานพิจารณาและเป็นผู้ลงนามในประกาศกระทรวง ต่อไป
อนึ่ง ในอดีต กระทรวงศึกษาธิการ เคยกำหนดโครงสร้างให้มี สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัด และประถมศึกษาจังหวัด ดูแลโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัด และมีประถมศึกษาอำเภอ เป็นหน่วยย่อยดูแลโรงเรียนประถมศึกษาในอำเภอ
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 ตุลาคม 2554
เพิ่ม"สพม."1จังหวัด1เขต โยก"สพป."ผนึกรวมด้วย
สพฐ.เตรียมกำหนดจำนวนเขตพื้นที่ สพป.-สพม.ใหม่ หวังแก้ปัญหาโรงเรียนห่างไกลถูกละเลย เพิ่ม สพม.ให้เป็น 1 เขตต่อ 1 จังหวัด จากเดิมมีแค่ 42 เขต โดยโยก สพป.มารวมกับ สพม. และคงจำนวน สพท.ไว้ที่ 285 เขตเหมือนเดิม ยอมรับหากเพิ่มก็กลัวเปลืองงบ หากไปลดก็กลัวมีปัญหากับ ผอ.สพท.
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุม สพฐ.ได้มอบให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ไปทำวิจัยการกำหนดจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้เหมาะสม ตามแนวคิดของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการจะปรับปรุงการบริหารงานใน สพท. โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่จะปรับใหม่เป็น 1 เขตต่อ 1 จังหวัดแทน หรือเพิ่มเป็น 78 เขต จากเดิมที่มีแค่ 42 เขต เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ หลังจากมีปัญหาโรงเรียนที่ไม่ได้ตั้งในจังหวัดเดียวกันกับ สพม. ถูกละเลยไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
"ที่จะปรับเพิ่ม สพม.เป็น 78 เขตนั้น ก็จะใช้วิธีการปรับลด สพป.ประมาณ 36 เขต เพื่อจะเอาส่วนนี้ไปเพิ่มจำนวน สพม.ตามที่กำหนด" นายชินภัทรกล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มอบแนวทางให้ สพร.ไปทำวิจัยทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และ สพม. อาทิ องค์ประกอบภายใน สพท.ต้องมีการปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง การกำหนดจำนวน สพป.ใหม่นั้นอาจจะยึดโยงตามจังหวัดแทน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดให้ สพร.สรุปผลการวิจัยในต้นเดือน พ.ย. กำหนดทำประชาพิจารณ์กลางเดือน พ.ย. สรุปผลเสนอให้ที่ประชุม กพฐ.พิจารณาในเดือน ธ.ค. และเสนอให้สำนักงานสภาการศึกษาพิจารณาต่อในเดือน ม.ค.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี สพท.ทั้งหมดจำนวน 285 เขตพื้นที่ แบ่งเป็น สพป.จำนวน 183 เขต และ สพม.จำนวน 42 เขต ซึ่งการกำหนดจำนวน สพท.ใหม่ครั้งนี้ ไม่เพิ่มหรือลดจำนวน สพท. เพราะไม่ต้องการเพิ่มงบและไม่ต้องการลดตำแหน่ง ผอ.สพท. เพราะอาจเกิดปัญหาตามมาได้.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 19 ตุลาคม 2554