นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้า คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต และโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ ภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมประชาคมอาเซียน 30 ส.ค. 54
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมประชาพิจารณ์โครงการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔
รมว.ศธ.กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ นั้น ศธ.จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ให้มีศักยภาพเข้าสู่การเปิดเสรีทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในขณะนี้เด็กที่เรียนจบมายังไม่มีงานทำ มีคุณภาพไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีภาระหนี้สินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น
ศธ.จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ Area Based โดยแบ่งผู้เรียนเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ สายอาชีพ แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และกลุ่มอำนวยการและอาชีพเฉพาะทาง และกลุ่มที่ ๒ สายสามัญ ที่มุ่งเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ การมีงานทำ และมีศักยภาพตรงตามความต้องการในการพัฒนาประเทศ
ในส่วนของ ศธ.เอง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับกลไกการบริหารจัดการภายใน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสนองตอบต่อทิศทางการพัฒนามากขึ้น เช่น มีแผนการทำงานที่ชัดเจน มีเป้าหมายในการผลิตคน รู้ว่าจะผลิตคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกอย่างไร ความคล่องตัวในการสื่อสารข้อมูลภายในองค์กร มีการเรียนรู้และสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งทุกอย่างจะมีแผนและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น
ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะยังไม่รู้เขารู้เรา กล่าวคือ ประเทศไทยยังไม่รู้ว่ามีศักยภาพเชิงเปรียบเทียบอย่างไร มีจุดดี จุดด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร แม้แต่ทิศทางการผลิตกำลังคน ก็ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่รู้เขา ก็คือ ไม่มีการศึกษา เรียนรู้ เกี่ยวกับขีดความสามารถ การผลิต การพัฒนา และความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย ศธ.จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศึกษาจัดตั้งคณะขึ้นมา เพื่อศึกษาประเทศคู่ค้ากับไทยในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งข้อดี ข้อเสีย จุดแข็ง จุดอ่อน ศักยภาพ สถานการณ์ ความต้องการ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า แม้การประชาพิจารณ์ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นเพียงการประชุมในวงเล็ก แต่ก็จะรอฟังผลของการประชาพิจารณ์ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนของ ศธ.ต่อไป และเชื่อว่า ผลของการประชาพิจารณ์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดทิศทางที่ชัดเจนและนำประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างแน่นอน
โครงการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน ดำเนินการวิจัยโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) ภายใต้ขอบเขตการศึกษาและพัฒนากำลังคนในอาเซียน รวมทั้งความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งคนไทยและเจ้าหน้าที่ต่างชาติ โดยศึกษาใน ๗ สาขาวิชาชีพ ได้แก่ วิศวกรรม นักสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และนักบัญชี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประมวลและประเมินผลกระทบ พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของประเทศไทยจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในประเด็นด้านการศึกษาและการพัฒนากำลังคน เพื่อศึกษาทบทวน แนวทางการปฏิบัติของประเทศสมาชิกในการเตรียมความพร้อมเพื่อการปรับตัว เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนากำลังคนและประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์เสรี และเพื่อเสนอแนะแนวทางหรือยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลและมาตรการรองรับผลกระทบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้ อันเป็นผลจาการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน
รมว.ศธ.ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต (Tablet) ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประชุมหารือเพื่อวางแผนการยกระดับการใช้เทคโนโลยีร่วมกัน รวมทั้งความร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในเรื่องการจัดทำระบบเครือข่ายทั้งหมด ต่อจากนี้จะต้องดูความพร้อมเรื่องเนื้อหา เพราะจะต้องจัดทำเนื้อหาในแต่ละชั้นเรียนให้มีความสัมพันธ์กับทรัพยากรพื้นที่ ซึ่งได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบการจัดทำหลักสูตรใหม่ร่วมกับจังหวัด สำหรับงบประมาณ เริ่มต้นจะใช้จำนวนกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่จะใช้กับนักเรียนทั้งระบบจะมีจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนการจัดซื้อจะให้ ICT จัดซื้อหรือให้อาชีวศึกษาประกอบนั้น จะขอฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายก่อน ซึ่งในการแจก Tablet นั้น นักเรียนคือผู้ใช้ โดยโรงเรียนจะเป็นผู้ที่ดูแล ในขณะที่นักเรียนเรียนอยู่จะต้องมี Tablet ใช้ ส่วนจะให้นำกลับบ้านหรือไม่ หรือจะเก็บไว้ที่โรงเรียนก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียน นักเรียนมีสิทธิ์ใช้ แต่จะบอกว่าเป็นของนักเรียนเลยคงจะไม่ได้ เมื่อเรียนจบก็ต้องคืน
ส่วนโครงการครูพันธุ์ใหม่ จะให้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาหลักสูตรการผลิตครูที่มีความเข้มข้นและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรต่างๆ เป็นการเปลี่ยนในรายละเอียดเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้คุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามครูยังคงมีบทบาทและเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาและการเรียนรู้ของนักเรียน ยังมีหน้าที่หลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากส่วนกลาง จาก ศธ. ส่งไปยังโรงเรียนและสอนนักเรียนต่อไป
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2011/aug/222.html