นั่งรถผ่านไปผ่านมา แล้วทราบกันไหมว่า เขาสร้างอนุสาวรีย์ชัยฯ กันขึ้นมาเพื่ออะไร แล้วมีความหมายอย่างไรบ้าง หากใครยังไม่รู้วันนี้มีคำตอบ
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อยู่ในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 5.0 ของถนนพหลโยธิน และอยู่กึ่งกลางระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1ถนนราชวิถี และถนนพญาไท โดยรอบของอนุสาวรีย์มีถนนรอบ ๆ เป็นวงเวียน บริเวณเดิมของที่แห่งนี้ แต่ก่อนเคยเป็นสี่แยกเรียกกันว่า "สี่แยกสนามเป้า" แต่ในปัจจุบันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีรถโดยสารให้บริการหลายเส้นทาง ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และรถตู้ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดวันเดียวกันในอีก 1 ปีต่อมา สถาปนิกผู้ออกแบบคือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนในสงครามอินโดจีน ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 160 คน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ชัยฯ ใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน คมดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ด้ามดาบปลายปืนตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในสงครามอินโดจีน ด้านนอกโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดงของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ขนาดสองเท่าของคนธรรมดา ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต จำนวน 160 ราย แบ่งเป็นทหารบก 94 นาย ทหารเรือ 41 นาย ทหารอากาศ 13 นาย และตำรวจสนาม 12 นาย ต่อมามีการจารึกรายนามผู้เสียชีวิตจากสงครามต่าง ๆ เพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี รวมเป็น 801 ราย.
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์