สวัสดีค่ะ.... มีใครเริ่มคิดเรื่องที่จะเขียนบทความกันบ้างหรือยังคะหรือว่ายังกล้าๆ กลัวๆ กันอยู่ ใจเย็นๆ ค่ะ การเขียนบทความไม่ได้ยากอย่างที่คิดกัน เป็นเรื่องง่ายที่ใครก็สามารถเขียนได้ค่ะ เพียงแต่เราต้องมีความตั้งใจและความพยายามเท่านั้นเอง ทุกอย่างก็สามารถสำเร็จได้ค่ะ ถือว่าให้กำลังใจทุกคนค่ะ แล้วก็ยังเป็นการให้กำลังตัวเองอีกด้วยเหมือนกันค่ะ หลังจากที่เรารู้ประเภทของบทความกันไปแล้ว ครั้งนี้เรามารู้ขั้นตอนในการเขียนบทความกันนะคะ เพื่อเราจะได้เริ่มฝึกฝีมือการเขียนกันเลย
ขั้นตอนในการเขียนบทความก็ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรเลยค่ะ เพราะได้มีนักวิชาการท่านหนึ่งชื่อวิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์ ได้กำหนดขั้นตอนเอาไว้ดังนี้ค่ะ
1. การเลือกเรื่อง เรื่องที่นำมาเขียนต้องอยู่ในความสนใจและความต้องการของผู้อ่าน เป็นเรื่องที่ผู้เขียนรู้จริง หรือมีประสบการณ์อย่างถ่องแท้
2. การวางแผนก่อนการเขียน เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายว่าผู้อ่านเป็นใคร โดยจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วยค่ะ
2.1 กลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนต้องคำนึงถึงอายุ เพศ รายได้ การศึกษา อาชีพ ความรู้ ในเรื่องความรู้ต้องคิดด้วยว่าผู้อ่านรู้อะไรบ้าง รู้เรื่องนั้น ๆ ดีพอเพียงใดที่ผู้อ่านต้องการรู้และผู้อ่านจะได้รับข่าวสารที่ผู้เขียนเขียนได้อย่างไร เพราะความสำเร็จของการเขียนขึ้นอยู่กับผู้อ่านยอมรับข้อเขียนของผู้เขียนด้วยค่ะ
2.2 กำหนดวัตถุประสงค์ ในข้อนี้ผู้เขียนต้องคำนึงว่าจะเขียนบทความนี้ไปทำไม เช่น เพื่อให้ข่าวสาร สร้างความคิดที่ดี หรือเพื่อโน้มน้าวใจ โดยวัตถุประสงค์ในการเขียนเพื่อการโน้มน้าวใจต้องให้ผู้อ่านเกิดความต้องการหรือตระหนักในปัญหาก่อน จากนั้นค่อยเสนอทางออก พร้อมกับยกตัวอย่างและหลักฐานที่ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพพจน์แล้วสรุปอีกครั้งในจุดที่ผู้เขียนต้องการ เป็นต้น
2.3 การรวบรวมเนื้อหา การเขียนบทความไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องคำนึงถึงหลักฐาน ข้อเท็จจริง ดังนั้นก่อนที่จะลงมือเขียนจำเป็นจะต้องสืบเสาะหาเรื่องราวให้มีความรู้เพียงพอ โดยวิธีการรวบรวมเนื้อหาสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
2.3.1 การค้นคว้าข้อมูลด้านวิทยาการจากหนังสือ และเอกสารต่าง ๆ เช่น จากห้องสมุด หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
2.3.2 การสัมภาษณ์บุคคลที่ต้องการจะเขียนถึง หรือจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ต้องการจะเขียน
2.3.3 การสนทนาหรือพูดคุยกับบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
2.3.4 การเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วจดบันทึกสิ่งที่ได้พบได้เห็น ซึ่งจะเป็นการสร้างสีสันให้งานเขียนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น
2.3.5 การสืบเสาะเรื่องราวต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน อย่างไร แล้วจึงติดตามไปยังแหล่งที่เกิดเหตุ ติดตามดูสถานที่ การกระทำ เหตุการณ์
3. การจัดเนื้อหา ได้แก่การวางโครงเรื่องของบทความ ซึ่งเป็นการจัดลำดับเนื้อหา ความคิด ของเรื่องราวนั้น ๆ เป็นต้นว่า จะลำดับความอย่างไร ส่วนไหนต้องใช้เป็นคำนำ เนื้อหา และสรุป
4. การเรียบเรียงเนื้อหา คือ การนำโครงเรื่องที่วางไว้มาขยายความให้ครบถ้วนได้ ความหมายที่ชัดเจน น่าอ่าน โดยต้องสอดคล้องกับรูปแบบและขนาดของบทความ
5. การตรวจแก้ไข เมื่อเขียนบทความเรียบร้อยแล้ว ควรมีการตรวจทานเสียก่อน เพื่อกันความผิดพลาดก่อนบทความตีพิมพ์สู่ผู้อ่าน
6. ส่งบทความไปเผยแพร่ ควรส่งบทความให้ตรงตามเวลา เพื่อบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ คนจัดรูปเล่ม จะได้ทำหน้าที่ของเขาได้ดีที่สุด
หลังจากที่ รู้จักขั้นตอนของการเขียนบทความไปแล้ว ก็สามารถเริ่มต้นเขียนกันได้เลยนะคะ การได้เขียนบทความ กับการเขียนบทความถูกต้อง ต่างกันนะคะ สวัสดีค่ะ