ขนมจีน อาหารประเภทเส้นทานคู่กับน้ำยาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นอาหารคาวแต่ทำไมเรียกขนม แล้วมาจากจีนหรือเปล่า วันนี้มีเฉลย
ขนมจีน อาหารคาวชนิดหนึ่งของไทย เวลารับประทานต้องทานคู่กันระหว่างเส้นขนมจีนยาว ๆ สีขาวที่ทำจากแป้งกับน้ำยาชนิดต่าง ๆ มากมาย ทั้งน้ำยากะทิ น้ำยาป่า หรือแกงเขียวหวาน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น แกล้มกับผักสด เช่น กะหล่ำปลี ถั่วงอก ผักดอง แตงกวา ฯลฯ มองดูแล้ว นี่ไม่ใช่ขนมสักนิด และก็ไม่น่าจะมาจากประเทศจีนด้วย แล้วชื่อ "ขนมจีน" มาจากไหน
ขนมจีน ไม่ได้มาจากประเทศจีน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า "คนอมจิน" ซึ่งเป็นภาษามอญ "คนอม" หมายถึง จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วน "จิน" แปลว่า ทำให้สุก คำว่า "คนอม" น่าจะใกล้เคียงกับคำในภาษาไทยว่า "เข้าหนม" แปลว่าข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งภายหลังน่าจะกร่อนเป็น "ขนม" จริง ๆ แล้ว ขนม ในความหมายดั้งเดิมจึงมิใช่ของหวานอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน ขนม หรือ หนม ในภาษาเขมร หรือ คนอม ในภาษามอญหมายถึงอาหารที่ทำจากแป้ง ดังนั้นขนมจีน จึงน่าจะเพี้ยนมาจาก คนอมจิน
ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่น ๆ จนเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สามารถหาทานได้ทั่วไป ภาษาเหนือเรียกขนมจีนว่า "ขนมเส้น" ภาษาอีสาน เรียกว่า "ข้าวปุ้น".
ขอบคุณที่มาเนื้อหาดีๆ จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์