หลาย ๆ ท่านคงเข้าใจถึงความรุนแรงของโรคหัวใจเป็นอย่างดี โรคชนิดนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กก็เป็นโรคนี้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางรายอาจต้องเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก โดยสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือตรวจพบได้เมื่อออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว สำหรับเด็กบางรายอาจเป็นโรคหัวใจในภายหลังเมื่อมีอายุหลายปีแล้ว ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมีอาการเหนื่อยง่าย ไม่สามารถวิ่งเล่นได้เหมือนเด็กปกติ และต้องพบแพทย์อยู่เป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจนั้น ๆ ด้วย
โรคหัวใจในเด็กมีชนิดไหนบ้าง?
จากการศึกษาทางระบาดวิทยาในประเทศไทยโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดพบบ่อยที่สุดในวัยเด็กซึ่งมีมากถึง 70–80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโรคหัวใจที่เกิดภายหลังพบประมาณ 20–30 เปอร์เซ็นต์ของโรคหัวใจในวัยเด็กทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดพิการแต่กำเนิดหรือชนิดที่เกิดภายหลัง ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะให้ความสนใจในการรักษาโรคหัวใจ และอาการเจ็บป่วยด้านอื่นแต่ละเลยการดูแลสุขภาพปากและฟันของเด็กโดยหารู้ไม่ว่าโรคฟันเป็นโรคที่มีผลต่อการติดเชื้อที่หัวใจได้
สุขภาพปากและฟันเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจอย่างไร?
ภายในช่องปากนอกจากประกอบด้วย ฟัน ลิ้น น้ำลาย ช่วยในการบดเคี้ยวอาหารแล้ว ยังมีเชื้อโรคหลายชนิดซุกซ่อนอยู่โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สแตรปโตคอคคัส เชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้จะยิ่งพบมากขึ้นในช่องปากที่มีฟันผุ เหงือกบวมอักเสบ ในคนไข้โรคหัวใจถ้ามีบาดแผลในช่องปากเชื้อโรคเหล่านี้จะแทรกซึมเข้าทางบาดแผลไปตามกระแสเลือด ฝังตัวที่ผนังหัวใจเกิดภาวะผนังหัวใจอักเสบได้
ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อนี้จะมีอาการแสดงคือ มีไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดข้อ ข้ออักเสบ มีการติดเชื้อกระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ปัสสาวะปนเลือด ซีด มีจุดเลือดออกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดภาวะหัวใจวาย อาการเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากเด็กไม่ได้รับการดูแลสุขภาพปากและฟันที่ดี ทำให้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แล้วจะดูแลสุขภาพปากและฟันอย่างไร?
การดูแลสุขภาพปากและฟันให้ดีอยู่เสมอในเด็กโรคหัวใจเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองและคนไข้ต้องใส่ใจดูแลควบคู่ไปกับการรักษาโรคหัวใจด้วย เริ่มตั้งแต่
1. การเลือกรับประทานอาหารที่ดีและรับประทานอย่างถูกวิธี
2. การทำความสะอาดในช่องปากให้ถูกวิธี
เลือกรับประทานอาหารอย่างไรไม่ทำให้ฟันผุ?
นม เป็นอาหารหลักสำหรับทารกแรกเกิด และเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับวัยต่อ ๆ มา แต่ถ้าผู้ปกครองเลี้ยงเด็กด้วยขวดนมอย่างไม่เหมาะสมก็จะทำให้เด็กเกิดฟันผุได้วิธีการป้องกันฟันผุจากการเลี้ยงลูกด้วยขวดนม
1. ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือนมจืด ไม่ควรให้ลูกกินนมที่มีรสหวาน และนมเปรี้ยว นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังไม่ควรเติมน้ำตาล น้ำหวาน หรือน้ำผึ้งไปผสมในนม
2. ให้เด็กดูดน้ำเปล่าตามทุกครั้งหลังจากดูดนม
3. ผู้ปกครองควรทำความสะอาดช่องปากและฟันให้เด็กหลังดูดนมทุกครั้ง
4. ไม่ควรให้ลูกดูดนมก่อนนอน ถ้าจะให้ลูกดูดขวดก่อนนอนก็ควรให้ดูดน้ำเปล่า ไม่ควรใช้นม น้ำผลไม้ หรือน้ำหวาน
5. การใช้หัวนมหลอกไม่ควรทาด้วยของหวาน เช่น น้ำตาล น้ำเชื่อม น้ำหวาน น้ำผึ้ง
6. เมื่อเด็กหัดนั่งได้ควรให้เด็กหัดดื่มจากแก้วแทนขวดนมอาหารว่างที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและไม่ทำอันตรายต่อสุขภาพฟันที่ทันตแพทย์แนะนำ มีลักษณะดังนี้
1. ควรเป็นอาหารที่ส่งเสริมให้มีการบดเคี้ยวเพื่อกระตุ้นให้มีการหลั่งของน้ำลาย เช่น ปลาหมึกปลาสวรรค์ ถั่วลิสงทอด ถั่วลิสงต้ม ข้าวโพดต้ม
2. เมื่อรับประทานแล้ว อาหารนั้นเหลือติดฟันน้อยมากและมีเส้นใยช่วยขัดผิวฟัน เช่น ฝรั่ง สับปะรด ชมพู่ มันแกว แอปเปิ้ล
3. มีคุณค่าทางสารอาหารแต่มีแป้งและน้ำตาลต่ำ เช่น ผักสด ผลไม้สด เมล็ดธัญพืช นมจืด
วิธีการทำความสะอาดในช่องปากไม่ได้มีแต่การแปรงฟันเท่านั้นยังมีเครื่องมือช่วยทำความสะอาดอีกหลายอย่าง เช่น ผ้าก๊อซ หรือ ผ้าอ้อม ไหมขัดฟัน เป็นต้น
การทำความสะอาดช่องปากในเด็กควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิดดังนี้
1. ในเด็กที่ฟันยังไม่ขึ้น ควรใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดบริเวณเหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เช้าและก่อนนอนทุกวัน
2. สำหรับเด็กที่ฟันขึ้นแล้วในระยะแรก ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้จนถึงให้เด็กแปรงเองบ้างและดูจนกระทั่งเด็กสามารถแปรงได้สะอาดเองในที่สุด
3. ควรเลือกใช้แปรงที่มีขนาดพอเหมาะ ขนแปรงอ่อนนุ่ม
4. เริ่มใช้ยาสีฟันสำหรับเด็ก เมื่อเด็กบ้วนน้ำได้แล้วเพื่อป้องกันการกลืนยาสีฟัน
5. ทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
ควรพาลูกมาพบหมอฟันเมื่อไร?
เมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น (อายุประมาณ 6 เดือน) หรืออย่างช้าไม่เกิน 1 ปี ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบทันตแพทย์ แต่สำหรับเด็กโรคหัวใจควรพบทันตแพทย์ครั้งแรกตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น เพื่อทันตแพทย์จะได้ตรวจ และดูแลด้านทันตกรรมป้องกัน เช่น การให้ฟลูออไรด์เสริมชนิดรับประทานหรือการเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์ และวางแผนการดูแลตามช่วงอายุอย่างเหมาะสม
ในการพบทันตแพทย์ทุกครั้ง ผู้ปกครองควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบถึงชนิดของโรคหัวใจที่เด็กเป็น เพื่อทันตแพทย์จะได้พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมก่อนการรักษาทางทันตกรรมที่ต้องมีเลือดออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปที่ผนังหัวใจ
คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากในเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี
ในเด็กแรกเกิด : ควรพบทันตแพทย์ครั้งแรกเพื่อรับคำแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง
เด็ก 6 เดือน : ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นให้เริ่มฝึกดื่มนมจากถ้วย (เมื่อเด็กหัดนั่ง) เลิกนมมื้อดึก
อายุ1-3 ปี : พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน การนัดพบทันตแพทย์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นกรณีไป
อายุมากกว่า 3 ปี : ฟันน้ำนมขึ้นครบ 20 ซี่ ก็จะเริ่มเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์
อายุ 6 ปี : ฟันกรามแท้ซี่แรกขึ้น นัดทันตแพทย์เพื่อปิดหลุมร่องฟันกรามที่ขึ้นใหม่.
ทันตแพทย์หญิงนันทนา ศรีอุดมพร/ทันตแพทย์หญิงศันสนีย์ ดีระลัภนานนท์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์